สวัสดีวันศุกร์วนมาอีกแล้ววววจ้า วันนี้ CHALAEM : แฉล้ม จะขอนำเสนอความหอมแบบธรรมชาติที่อยู่ข้างทางข้างถนนนั้นก็คืออออออ ดอกปีบนั้นเอง
เราจะพบน้องดอกปีบกันช่วงปลายฝนต้นหนาวค่ะ หลายๆ ท่านคงได้มีโอกาสพบเจอกับเจ้าดอกไม้สีขาวที่บ้างก็ร่วงหล่นอยู่เต็มพื้นถนน บ้างก็บานเป็นช่อสีขาวเด่นอยู่บนต้น ดอกปีบนั้นไม่ได้มีดีแค่ความหอม ดอกสวย นะจ๊ะ เพราะสรรพคุณของน้องดอกปีบนั้นมากมายจริงๆ เลยเชียว ว่าแต่จะมีอะไรบ้าง ตามไปอ่านกันเลยเจ้าค่ะ
ปีบ (Millingtonia hortensis L.f.) มีชื่อเรียกอื่นๆ คือ กาซะลอง, กาดสะลอง, เต็กตองโพ่ และชื่ออังกฤษคือ cork tree, Indian cork tree เป็นพืชในวงศ์ BIGNONIACEAE ปีบเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ผลัดใบ ลำต้นตรง สูงได้ถึง 25 ม. ใบประกอบแบบขนนก 2-3 ชั้น ใบย่อยรูปไข่แกมรูปหอก ปลายใบแหลม ขอบใบหยักเว้า หรือหยักกลมๆ หรือเรียบ โคนใบกลมมีต่อมขนอยู่ตรงมุมระหว่างเส้นกลางใบและเส้นใบ ดอกออกเป็นช่อใหญ่ตั้งตรง มีขนสั้นๆ มีกลิ่นหอม ดอกมีสีขาว กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นท่อยาว ออกดอกราวเดือนกันยายนถึงธันวาคม ติดผลราวเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ ผลเป็นฝัก ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก
สรรพคุณตามตำรายาไทยระบุว่า ดอกมีสรรพคุณแก้ริดสีดวงจมูก ช่วยขยายหลอดลม แก้หืด ขับน้ำดี บำรุงกำลัง บำรุงเลือด ดอกใส่ปนกับยาไทย มวนสูบทำให้ปากหอม รากใช้รักษาวัณโรค บำรุงปอด แก้หอบ แก้ไอ แก้เหนื่อยหอบ และเปลือกช่วยแก้ไอ ขับเสมหะ
สารเคมีที่พบในดอกคือสารในกลุ่ม Glycosides คือ scutallerin, scutellarein-5-galactoside, salidroside, 2-phenyl rutinoside, 2-(3,4-dihydroxy phenyl)-ethyl glucoside, acetoside, phenyl propanoid glucosides, p-coumaryl alcohol glucoside, isoeugenol glucoside, cornoside, rengyolone, rengyoside B, rengyol, rengyoside A, isorengyol, millingtonine และสารในกลุ่ม Flavanoids คือ scutellarein-5-glucuronide, hispidulin, scutellarein, hortensin, 3,4-dihydroxy-6,7-dimethoxyflavone ที่พบในใบคือ hispidulin, beta-carotene, dinatin, rutinoside ที่พบในผลคือ acetyl oleanolic acid ที่พบในเปลือกต้นคือ sitosterol, สารขมและ tannins ที่พบในรากคือ lapachol, beta-sitosterol, paulownin และสารสำคัญที่นิยมนำมาศึกษาฤทธิ์ขยายหลอดลมและบรรเทาอาการของโรคหอบหืดคือสาร hispidulin และ hortensin ซึ่งพบทั้งในส่วนของดอกและใบ
เมื่อไม่นานมานี้มีงานวิจัยทางคลินิกที่พบว่าตำรับยาดอกปีบมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการของโรคหอบหืดได้ โดยการพ่นสารสกัดน้ำจากตำรับยาดอกปีบด้วยเครื่องพ่นออกซิเจน แก่อาสาสมัครชายหญิงที่เป็นโรคหอบหืดจำนวน 30 คน อายุเฉลี่ย 46 ปี วันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 3 มล. ซึ่งแต่ละครั้งจะห่างกัน 15 นาที
พบว่าอาสาสมัครมีค่า Peak Expiratory Flow rate (PEFR) ดีขึ้นเกือบ 30% ซึ่งค่าดังกล่าวเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพการทำงานของปอด แสดงให้เห็นว่าตำรับยาพ่นดอกปีบมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการของโรคหอบหืดได้ และการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ พบว่า ปีบมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ต้านแบคทีเรีย กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ ปกป้องตับจากสารพิษ ขับพยาธิ ฆ่าลูกน้ำยุง และต้านการชัก แต่ยังเป็นเพียงการศึกษาในระดับหลอดทดลองและสัตว์ทดลองเท่านั้น
ขอขอบคุณที่มา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล