สวัสดีวันศุกร์สุดสัปดาห์ค่ะสาวๆ ทุกท่าน ถ้าพูดถึงเรื่องแผลเป็นทุกคนคงอี๋ไม่มีใครอยากเป็นหรอกจ้า วันนี้ CHALAEM : แฉล้ม จะขอนำเสนอการรักษาแผลเป็นโดยการใช้สารสกัดจากหัวหอมกันค่ะ ส่วนมากจะเคยได้ยินแต่ว่านหางจระเข้รักษาแผลเป็นกันล่ะสิ วันนี้ขอนำเสนอสารสกัดจากหัวหอมจ้า
เมื่อเกิดแผลขึ้นตามร่างกาย เช่น มีดบาด หกล้ม แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก แผลผ่าตัด แผลสิว แผลจากโรคอีสุกอีใส ทำให้เกิดการฉีกขาดของเนื้อเยื่อ ร่างกายจะมีกระบวนการในการรักษาตัวเอง เช่น การอักเสบ การสร้างเนื้อเยื่อและคอลลาเจนขึ้นมาใหม่ทดแทนส่วนที่ถูกทำลายไป โดยจะไฟโบรบลาส (fibroblast) ถูกสร้างขึ้นในส่วนของ extracellular matrix molecules (ECM) เกิดการซ่อมแซม สร้างและจัดเรียงโครงสร้างของผิวหนัง การสร้างเส้นเลือดใหม่ ซึ่งจะทิ้งรอยแผลจางๆไว้ อาจเป็นสีน้ำตาล แดงหรือชมพู และนูนเล็กน้อย แต่เมื่อปล่อยทิ้งไว้สีก็จะจาง แบนลงจนหายไปได้เองใช้เวลา 1-2 ปี หรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของบาดแผล การฉีดขาดของเนื้อเยื่อมากน้อยเพียงใด และการดูแลรักษาความสะอาดของแผล แต่ถ้าเกิดความผิดปกติ เช่น การสร้างเนื้อเยื่อมากเกินไปทำให้รอยแผลไม่หายไปก็จะเรียกว่า แผลเป็น ซึ่งจำแนกออกเป็น
แผลเป็นนูนหนาธรรมดา (Hypertrophic) คือ แผลเป็นที่มีลักษณะเป็นสีชมพู สีแดงและนูนขึ้นมาจากผิวหนังเล็กน้อยโดยยังอยู่ในรอยของแผลเดิม เกิดจากการสร้างคอลลาเจนมากเกินไป แต่ไม่ขยายกว้างจากรอยเดิม และมักจะจาง หรือค่อย ๆ ยุบตัวแบนราบลงเมื่อเวลาผ่านไป 1-2 ปี
แผลเป็นนูนชนิดคีลอยด์ (Keloid) คือ แผลเป็นที่มีลักษณะอาการนูนคล้ายกับรอยแผลเป็นนูนหนาชนิดแรก แต่ตัวแผลจะนูนเหนือผิวหนังมากกว่าปกติ และจะมีความผิดปกติของกระบวนการสร้างเนื้อเยื่อโดยเกิดการขยายตัว นูน หรือกว้างกว่ารอยแผลเดิม เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และไม่ยุบหายไปเอง จัดเป็นเนื้องอกธรรมดาไม่ใช่มะเร็ง
กระบวนการการสร้างเนื้อเยื่อเพื่อรักษาบาดแผลเกี่ยวข้องกับการสร้างโปรตีนต่างๆ เช่น คอลลาเจน เจลาติน และโปรทีโอไกลแคนที่อยู่ใน ECM ในชั้นของเนื้อเยื่อ ซึ่งมีกลุ่มเอนไซม์ matrix metalloproteinases (MMPs) ทำหน้าที่เป็นตัวสร้างสารต่างๆ ในกระบวนการรักษาบาดแผล โดยการอักเสบและการเกิดแผลจะเป็นตัวกระตุ้นให้เซลล์สร้าง MMPs ออกมาอยู่ในรูปของ Pro-MMPs และจะต้องมีเอนไซม์ protease มาย่อยอีกทีเพื่อให้สามารถทำงานได้ นอกจากนี้จะมี tissue inhibitors of metalloproteinases (TIMPs) ทำหน้าที่เป็นตัวยับยั้งการทำงานของ MMPs ได้ด้วย จะเห็นได้ว่าการทำงานของ MMPs เป็นสิ่งสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการรักษาแผล ถ้ามีการทำงานมากเกินไป นานเกินไปก็จะเกิดแผลเป็น ปัจจุบัน พบ MMPs ทั้งหมด 28 ชนิดแต่ทราบหน้าที่แค่บางชนิด เช่น MMPs-1, MMPs-8 และ MMPs-13 เกี่ยวข้องกับการสร้างคอลลาเจน MMPs-2 และ MMPs-9 เกี่ยวข้องกับการสร้างเจลลาติน เป็นต้น
ในปัจจุบันการรักษาแผลเป็นโดยการทายาเป็นการรักษาที่ทำได้ง่ายไม่ยุ่งยากเหมือนการผ่าตัดตกแต่งผิวหนัง ยาที่ใช้ทา เช่น สาร imiquimod, mitomycin C หรือสารจากพืช เช่น ชาเขียว ว่านหางจระเข้ วิตามินอี
การใช้สารสกัดจากหัวหอมก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง จากการศึกษาพบว่าสารสกัดจากหัวหอมประกอบด้วยสารกลุ่ม phenolic มีฤทธิ์เป็น anti-oxidant และ anti-inflammatory ซึ่งจะมีผลต่อการสร้างเนื้อเยื่อ และจากการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดจากหัวหอมในการรักษาแผลเป็นพบว่าสารสกัดจากหัวหอมสามารถลดการสร้างไฟโบรบลาสในกระบวนการสร้างเนื้อเยื่อได้โดยกระตุ้นการทำงานของ MMPs-1 และยังเกี่ยวข้องกับกระบวนการ ECM remodeling อีกด้วย
แต่อย่างไรก็ตามการรักษาแผลเป็นโดยการใช้ยาทายังไม่มีการรายงานว่าสารใดสามารถรักษาแผลเป็นให้หายได้แน่นอน ทั้งนี้การรักษาแผลเป็นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีในการรักษาแผลเป็นที่เหมาะสม
ขอขอบคุณข้อมูล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล