อย. เตือน อย่าซื้อยาปฏิชีวนะรักษาสัตว์ผ่านช่องทางออนไลน์ เสี่ยงได้รับยาไม่มีคุณภาพ หรือ ยาปลอม และอาจก่อให้เกิดเชื้อดื้อยา ทำให้การรักษาไม่ได้ผลอาจทำให้สัตว์ตายได้ ขณะนี้กฎหมายไม่อนุญาตให้ขายยาใด ๆ ทางอินเทอร์เน็ต หากพบแจ้งเบาะแสที่สายด่วน อย. 1556 หรือ Oryor Smart Application
เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบพบการโฆษณาขายยาสัตว์ทางสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอี-มาร์เกตเพลส เฟสบุ๊ก เว็บไซต์ เป็นต้น โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ เช่น กาน่ามัยซิน ซัลเฟต ชนิดฉีด (Kanamycin Sulfate injection) โดยเกษตรกรสั่งซื้อไปใช้ในฟาร์มของตนเองนั้น ขอเรียนว่า อย. มีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากกาน่ามัยซิน ซัลเฟต เป็นยาอันตราย มีสรรพคุณใช้ทำลายเชื้อแบคทีเรีย ต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของสัตวแพทย์หรือเภสัชกร ผลิตภัณฑ์ยาไม่ใช่สินค้าทั่วไป กฎหมายไม่อนุญาตให้ขายยาผ่านทางสื่อออนไลน์ การขายยาในลักษณะนี้จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่ง อย. ได้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดแล้ว ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการกำหนดให้ต้องขายยาในร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น แม้ว่าจะเป็นยาสัตว์ก็ตาม เนื่องจากเภสัชกรประจำร้านจะต้องแนะนำวิธีใช้ยาที่ปลอดภัย การซื้อยาผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ผู้ซื้อไม่สามารถทราบได้เลยว่าเป็นยาจริงหรือยาปลอม มีประสิทธิภาพ หรือมีความปลอดภัยมากน้อยเพียงไร หรือสัตว์อาจได้รับผลข้างเคียงจากยาจนถึงแก่ชีวิต นอกจากนี้การใช้ยาปฎิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อที่ไม่ถูกต้อง นอกจากไม่สามารถรักษาการติดเชื้อได้แล้ว อาจก่อให้เกิดเชื้อดื้อยา ในอนาคตหากมีความจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยก็จะทำให้การรักษาด้วยยาดังกล่าวไม่ได้ผล
ขอเตือนไปยังผู้ขายยาให้ระงับการขายยาทางออนไลน์ทันที แม้ว่าจะเป็นร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตแล้ว ซึ่งนอกจากจะถูกดำเนินคดีทางอาญาแล้ว อาจเป็นเหตุให้ถูกพักใช้ใบอนุญาตขายยาอีกด้วย ส่วนอี-มาร์เก็ตเพลสขอให้บล็อกร้านค้าออนไลน์ที่โฆษณาขายยา เพราะหากตรวจพบการโฆษณาขายยาผ่านช่องทางดังกล่าวก็จะมีความผิดฐานขายยาและถูกดำเนินการตามกฎหมายเช่นเดียวกัน ขอให้คำนึงไว้เสมอว่า สัตว์ก็เป็นสิ่งมีชีวิตเช่นเดียวกับมนุษย์ ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญในการใช้ยาเพื่อรักษาหรือป้องกันโรคด้วย โดยเลือกใช้ยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนและขายตามช่องทางที่กฎหมายกำหนดภายใต้การควบคุมของสัตวแพทย์หรือเภสัชกร และหากเป็นกลุ่มยาควบคุมพิเศษก็ต้องมีใบสั่งยาจากสัตวแพทย์ชั้นหนึ่งจึงจะสามารถซื้อขายยาดังกล่าวได้ ทั้งนี้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลการอนุญาตผลิตภัณฑ์และร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตได้ผ่านทาง Oryor Smart Application หรือระบบสืบค้นข้อมูลการอนุญาตทางเว็บไซต์อย. www.fda.moph.go.th และหากพบการลักลอบผลิต นำเข้า จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาสายด่วน อย. 1556 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application รองเลขาธิการฯ อย.กล่าวในที่สุด
แหล่งที่มา สำนักสารสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข