อาการที่แสดงว่าเสี่ยงเป็นโรคริดสีดวงทวารหนัก
มีเลือดสีแดงสดหยดออกมา ขณะเบ่งถ่าย หรือหลังถ่ายอุจจาระ มีอาการปวดมากบริเวณรอบทวารหนัก หรือบางรายไม่มีอาการปวดแสบรอบทวารหนัก มีก้อนเนื้อ เป็นติ่งเนื้อ ยื่นออกมาขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ และยุบหดกลับเข้าไปเมื่อหยุดเบ่งอุจจาระ บางครั้งติ่งนั้นหดกลับเองไม่ได้ ต้องใช้มือดันติ่งนั้นกลับเข้าไป และบางรายที่เป็นมาก อาจย้อยและเป็นติ่งอยู่ภายนอก ตรวจทางทวารพบก้อนแข็ง ขรุขระ มีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ผอมลง บางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย
ริดสีดวงทวารมี 2 ชนิด ดังนี้
1. ริดสีดวงทวารภายนอก เกิดจากหลอดเลือดดำที่อยู่ภายนอกปากทวารหนักมีการโป่งพอง เวลาตรวจอาการจะเห็นจากภายนอก ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดได้มากกว่าริดสีดวงภายใน อาจสร้างความรำคาญให้กับผู้ที่เป็นโรค
2. ริดสีดวงทวารภายใน เกิดจากหลอดเลือดดำที่อยู่ภายในปากทวารหนักมีการโป่งพอง เวลาตรวจอาจต้องใช้กล้องส่องตรวจ หรือให้นอนตะแคงเข่าคู้ เพื่อล้วงตรวจตำแหน่งของริดสีดวง และตรวจความผิดปกติ ลักษณะก้อนแข็ง หรือนิ่ม ขนาดหัวริดสีดวง แต่ริดสีดวงทวารภายในจะทำให้เกิดเลือดออกได้ง่ายกว่า
ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคริดสีดวงทวาร
1. ท้องผูกเป็นประจำ ทำให้นั่งถ่ายอุจจาระนาน เวลาถ่ายต้องเบ่งอุจจาระ แรงเบ่งจะเพิ่มความดัน ทำให้หลอดเลือดโป่งพอง เลือดขอด ปูดพอง เป็นหัวริดสีดวงบริเวณทวารหนักได้ง่าย
2. ท้องเสียเป็นประจำไปเพิ่มแรงดัน หรือไปเพิ่มการบาดเจ็บหลอดเลือดได้
3. การตั้งครรภ์ น้ำหนักของครรภ์จะไปกดทับลงเนื้อเยื่อหลอดเลือด จึงทำให้เกิดหลอดเลือดบวมพองได้ง่าย
4. โรคอ้วนหรือผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินกว่ากำหนด ไปเพิ่มแรงดันในช่องท้องและในอุ้งเชิงกรานสูงขึ้น เช่นเดียวกับหญิงตั้งครรภ์
5. การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก เกิดการกดเบียดทับทำให้บาดเจ็บ ทำให้เลือดคั่งในหลอดเลือดเกิดโป่งพองได้ง่าย
วิธีป้องกันและรักษาโรคริดสีดวงทวาร
1. ไม่ควรปล่อยให้ท้องผูกเป็นประจำ ควรทานอาหารกินอาหารที่มีกากใย เช่น ผักผลไม้ อาหารย่อยง่าย เคี้ยวอาหารให้ละเอียด
2. ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน ระบบขับถ่ายจะทำงานเป็นปกติขึ้น
3. ควรดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เพื่อให้อุจจาระที่แข็งนิ่มขึ้น ทำให้ขับถ่ายและลดการเสียดสีกับเส้นเลือดที่บริเวณทวารหนัก
4. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน เช่น สุรา เบียร์ ไวน์ กาแฟ ชา น้ำอัดลม เพราะจะทำให้ร่างกายขาดน้ำ ส่งผลทำให้อุจจาระแข็งและถ่ายลำบากขึ้น
5. ไม่กลั้นอุจจาระเป็นเวลานาน หลีกเลี่ยงการนั่งถ่ายอุจจาระเป็นเวลานาน ๆ และการขัดถูบริเวณทวารหนักอย่างรุนแรง รวมถึงการงดมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักด้วย
6. นั่งแช่น้ำอุ่นที่สะอาดหรือน้ำด่างทับทิมอุ่น ครั้งละ 10-15 นาที วันละประมาณ 2-3 ครั้ง จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บ ปวด และอาการบวมได้
การแพทย์แผนไทยมีวิธีการรักษาริดสีดวงทวารอย่างไร
หลักการรักษาของแพทย์แผนไทย จะลดบทบาทการทำงานของธาตุไฟไม่ให้กำเริบมากเกินไป และกระตุ้นธาตุลมให้พัดสะดวกขึ้น โดยเราจะจ่ายยาสมุนไพรที่มีฤทธิ์สุขุมร้อน เพื่อกระจายลมและเลือดลม ที่คั่งอั้น คั่งค้างในลำไส้น้อย และลำไส้ใหญ่ ซึ่งในกรณีนี้ไม่ควรจ่ายยาที่มีรสร้อนมากเกินไป เพราะอาจไปกระตุ้นทำให้ธาตุไฟกำเริบ ทำให้หัวริดสีดวงโป่งหรือปูดมากขึ้น บางรายอาจมีเลือดออกมาทางทวารหนักมากขึ้น หรืออาจจะจ่ายยาที่มีรสเมาเบื่อหรือยาที่มีสรรพคุณแก้ทางน้ำเหลืองเสียด้วยก็ได้ เพื่อช่วยทำให้หัวริดสีดวงฝ่อลง และช่วยรักษาแผลหัวริดสีดวงไปด้วย ไม่ควรจ่ายยารสเย็น เพราะจะทำให้ธาตุไฟและธาตุลมในลำไส้น้อย ลำไส้ใหญ่ไม่สามารถทำงานได้ปกติ สามารถจ่ายยาเดี่ยว เช่น เพชรสังฆาต ยาตำรับ เช่น ยาแก้ริดสีดวงทวารหนัก หรือยาทาบริเวณหัวริดสีดวงเพื่อให้หัวยุบ ฝ่อ แห้งเร็วก็ได้เช่นกัน “ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้รักษาด้วย ก่อนแพทย์แผนไทยจะจ่ายยาทุกครั้ง ควรตรวจและซักประวัติอาการของผู้ป่วยให้ดีก่อน ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร มีความผิดปกติของสมุฏฐานโรคอะไร”
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
ผลิตภัณฑ์คลินิกศรีประจันต์การแพทย์แผนไทย
บริการให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพกับผู้เชี่ยวชาญ ฟรี!!
ยินดีให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง
line : @tgs1932
facebook : ทิพย์เกสร สมุนไพร tipgaysorn
เบอร์โทรศัพท์ : 035-581-909 , 062-319-7899 , 064-991-9638
เแหล่งอ้างอิง
สุรเกียรติ อาชานานุภาพ. (2523). ริดสีดวงทวารหนัก Hemorrhoids (พิมครั้งที่ 2 ). กรุงเทพฯ : เรือนเเก้วการพิมพ์.
เรียบเรียงโดย : ศิลธนา แม้นจิตร