โรคที่ใครเป็นแล้วทุกข์ทรมาน ไม่ใช่แค่คนป่วย แต่คือคนดูแล ก็ป่วยตาม
ลักษณะอาการของอัมพฤกษ์ อัมพาต
อัมพฤกษ์ (Paresis) อัมพาต (Paralysis) เป็นกลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติในการควบคุม การเคลื่อนไหวของร่างกาย การอ่อนแรงของแขนขาหรืออวัยวะส่วนอื่น เช่น ใบหน้า ตา ปาก เคลื่อนไหวไม่ค่อยได้หรือน้อยกว่าปกติ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น เกิดหลอดเลือดในสมองตีบ อุดตันหรือแตก หรือเกิดจากสมองไขสันหลัง หรือเส้นประสาทได้รับบาดเจ็บมีการอักเสบ
อัมพฤกษ์ (Paresis) คือ อาการที่อวัยวะร่างกายอ่อนแรง ปกติแล้วมักหมายถึงแขนขาอ่อนแรง แต่อวัยวะส่วนอื่นของร่างกายก็เป็นอัมพฤกษ์ได้ เช่น ที่ดวงตา เรียก อัมพฤกษ์กล้ามเนื้อกลอกตาบางมัด (ophthalmoparesis) , ที่บริเวณท้อง เรียก อัมพฤกษ์กระเพาะ (gastroparesis) และเส้นเสียง เรียกว่า อัมพฤกษ์เส้นเสียง (vocal cord paresis) ตรงกันข้ามกับอัมพาตที่อวัยวะตายเคลื่อนไหวมิได้อีกต่อไป
อัมพาต (Paralysis) คือ อาการที่อวัยวะบางส่วน เช่น แขน ขา เป็นต้น มีอาการตายไป กระดิกไม่ได้ ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายได้เลย ตรงกันข้ามกับอัมพฤกษ์ ที่อวัยวะร่างกายเพียงอ่อนแรง โดยอาจมีอาการชาร่วมด้วยก็เป็นได้ ถ้าเกิดที่ขาทั้ง 2 ข้าง เรียกอัมพาตครึ่งล่าง (paraplegia) ถ้าเกิดทั้งแขนและขา 4 ข้าง เรียกอัมพาตทั้งแขนขา (quadriplegia) แต่ถ้าเพียงซีกใดซีกหนึ่งของแขนขา เรียกอัมพาตครึ่งซีก (hemiplegia)
ทั้งกรณีอัมพฤกษ์ อัมพาต อาจมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือไม่มีแรง หรือแข็งเกร็ง และอาจสูญเสีย การรับความรู้สึกที่ร่างกายบางส่วน หรือไม่มีความรู้สึกเลย ตาอาจปิดไม่สนิท ปากเบี้ยวพูดไม่ชัด หรือพูดไม่ได้
ลักษณะอาการโรคอัมพาต 5 ชนิด คือ
1. อัมพาตเฉพาะแขน เป็นโรคที่ทำให้แขนข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้าง เคลื่อนไหวไม่ได้ปกติ เกิดจากเส้นประสาทระดับไขสันหลัง ช่วงคอไม่เกินกึ่งกลางสะบักผิดปกติ ซึ่งอาจจะมีจากสาเหตุ เช่น พยาธิตัวจี๊ดไช เนื้องอกบริเวณไขสันหลังเบียดทับเส้นประสาทพบในเด็กจากการคลอด อุบัติเหตุ
2. อัมพาตเฉพาะขา เป็นโรคที่ทำให้ขาข้างใดข้างหนึ่งเคลื่อนไหวได้ไม่ปกติ เกิดจากเส้นประสาท ไขสันหลัง ช่วงเอว ก้นกบปกติ เช่น เนื้องอก พยาธิตัวจี๊ดไช อุบัติเหตุบริเวณก้นกบ
3. อัมพาตครึ่งท่อน เป็นโรคที่ทำให้ขาทั้ง 2 ข้างเคลื่อนไหวได้ไม่ปกติ มีปัญหาสูญเสียการควบคุม ระบบการขับถ่าย อุจจาระ และปัสสาวะ เกิดจากเส้นประสาทระดับไขสันหลังช่วงต่ำกว่ากึ่งกลางสะบักผิดปกติ เช่น เนื้องอก เส้นเลือดสันหลังโป่งพองหรืออุบัติเหตุต่าง ๆ
4. อัมพาตทั้งตัว เป็นโรคที่ทำให้แขนทั้ง 2 ข้าง ขา 2 ข้าง เคลื่อนไหวได้ไม่ปกติ มีปัญหาควบคุม การอุจจาระ ปัสสาวะไม่ได้ สาเหตุจากระบบไขสันหลังบริเวณต้นคอเหนือกึ่งกลางปีกสะบักขึ้นไป เกิดจากอุบัติเหตุรถชน ตกจากที่สูง หรืออาจพบจากระบบสมองก็ได้ ซึ่งมักจะมีอาการพูดไม่ได้
5. อัมพาตครึ่งซีก พบได้บ่อยที่สุด เป็นโรคที่แขนและขาข้างเดียวกับซีกใดซีกหนึ่งเคลื่อนไหวได้ไม่ปกติ เกิดจากระบบสมองด้านตรงข้ามกับร่างกายซีกที่เป็นอัมพาต เกิดจากเส้นเลือดมีการตีบ แตก อุดตัน มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิต หัวใจ ไขมันในเส้นเลือด กรรมพันธุ์ พยาธิตัวจี๊ดไช เนื้องอกในสมอง ประสบอุบัติเหตุ
สาเหตุของอัมพฤกษ์ อัมพาต
– อัมพาตครึ่งล่าง และอัมพาตหมดทั้งแขนขา ล้วนมีสาเหตุจากโรคไขสันหลัง
– อัมพาตครึ่งซีก จะมีสาเหตุดังต่อไปนี้
1. ที่เกิดจากหลอดเลือดในสมองตีบตัน เป็นการที่หลอดเลือดแดงเกิดการแข็งตัวหรือเสื่อม โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือคนที่สูบบุหรี่จัดก็มีโอกาสเป็นได้มากกว่าคนปกติ เพราะหลอดเลือดแดงจะมีการเสื่อมและตีบเร็วขึ้น
หลอดเลือดในสมองตีบตัน เกิดซีกซ้ายจะมีอาการอัมพาตที่ซีกขวา จะสวนทาง เช่นเดียวกัน เกิดซีกขวาจะมีอาการอัมพาตที่ซีกซ้าย โดยมีอาการบอกเหตุล่วงหน้า แขนขาชา ตามัว เห็นภาพซ้อน ปากเบี้ยว กลืนอาหารยากลำบาก พูดไม่ได้หรืออ้อแอ้
2. ที่เกิดจากหลอดเลือดในสมองมีก้อนอุดตัน สืบเนื่องจากลิ่มเลือดขนาดเล็ก ที่อยู่ภายนอกสมอง หลุดลอยตามกระแสเลือดขึ้นไปอุดตันในหลอดเลือดที่อยู่ในสมอง
หลอดเลือดในสมองมีก้อนอุดตัน อาการคล้ายหลอดเลือดในสมองตีบตัน แต่จะเกิดทันทีทันใด ไม่มีการบอกเหตุล่วงหน้า
3. ที่เกิดจากหลอดเลือดในสมองแตก เป็นความผิดปกติของหลอดเลือดแดงที่เป็นมาแต่กำเนิด เช่น หลอดเลือดแดงโป่งพองโดยกำเนิด หลอดเลือดฝอยผิดปกติแต่กำเนิด เป็นต้น นอกจากนี้ คนที่เป็นโรคความดันโลหิตก็มีโอกาสเป็นได้ง่ายอีกเช่นกัน
หลอดเลือดในสมองแตก มักเกิดทันทีทันใด ขณะทำงานออกแรงมาก ๆ อาจมีอาการแจ้งเตือน บ่นปวดศีรษะ แล้วตามด้วยปากเบี้ยว พูดไม่ได้ แขนขาค่อย ๆ อ่อนแรงลง
ส่วนอัมพาตปากเบี้ยว เกิดจากเส้นประสาทสมองเส้นที่ 7 ที่มาเลี้ยงบริเวณใบหน้าไม่ทำงานชั่วคราว เกิดขึ้นช่วงเช้า ปากข้างหนึ่งจะเบี้ยว กลืนน้ำหรือบ้วนปากจะมีน้ำไหลที่มุมปาก ยิงฟันหรือยิ้ม มุมปากข้างนั้นจะตก ตาปิดไม่มิด ยักคิ้วไม่ได้ แต่ผู้ป่วยรู้สึกตัวดีทุกอย่าง ถ้าอยู่เฉย ๆ ก็ดูไม่ออกว่าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ
แนวคิดตามศาสตร์ธรรมชาติบำบัด และการแพทย์แผนไทย
โรคอัมพฤกษ์หรืออัมพาต เกิดจากการเดินไม่สะดวกของธาตุลมและธาตุไฟ การไหลเวียนของเลือดลมที่ถูกอั้น สกัดกั้น
เกิดจากลมเบื้องสูง (ลมอุทธังคมาวาตา คือ ลมพัดขึ้นเบื้องบน จากปลายเท้า ถึงศีรษะ) และลมเบื้องต่ำ (ลมอโธคมาวาตา คือ ลมพัดลงเบื้องล่างตั้งแต่ศีรษะถึงปลายเท้า) พัดระคนกัน จนเกิดโทษ ทั้งสองนี้เมื่อระคนกัน คือลมอโธคมาวาตา พัดย้อนขึ้นไประคนกับลมอุทธังคมาวาตากับพัดลงหาอโธคมาวาตา จึงเป็นเหตุให้โลหิตถูกพัดเป็นฟองและร้อนดั่งไฟ ส่วนลมในทิศเบื้องต่ำ คือลมอัมพฤกษ์และลมอัมพาต เกิดแต่ปลายเท้าถึงเบื้องบน ลมทั้งสองนี้ เป็นที่ตั้งแห่งฐานลมทั้งหลาย เมื่อระคนกันก็ให้หวาดหวั่นไปทั่ว เพราะไปกระทบกับลมหทัยวาตะ คือ ลมประจำหทยัง เมื่อลมระคนกันให้กำลังโลหิตแปรไป อาการที่ปรากฏจึงเป็นอาการทางระบบประสาทให้จุกแน่น ซัก กำมือ เท้างอ ดิ้นไป ให้ลิ้นกระด้างคางแข็ง ขากรรไกรแข็ง เจรจาไม่ได้ บ้างสิ้นสติ หรือลมนั้นมีกำลังขับโลหิตให้คั่งเป็นวง เป็นสีตามร่างกาย
จาก ตำราการแพทย์แผนไทยเดิมเล่ม 1
– ลมอัมพฤกษ์ หมายถึง ลมที่ทำให้เกิดอาการเคลื่อนไหวไม่ได้ โดยกระดูกไม่เคลื่อน
– ลมอัมพาต หมายถึง ลมที่ทำให้เคลื่อนไหวไม่ได้ และมีอาการกระดูกเคลื่อน ลมจับเอาก้นกบไปถึงราวข้าง จับเอาหัวใจแล้วให้ซึมมึน แล้วขึ้นไปราวบ่าทั้งสอง ขึ้นไปจับเอาต้นลิ้น เจรจาไม่ได้ชัดแล
การดูแลเรื่องจิตใจก็สำคัญ ผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต จะมีอาการขี้น้อยใจได้ง่าย รู้สึกว่าตนเองมีภาระให้คนอื่นลำบากด้วย จึงต้องดูแลอย่างดีที่สุด ให้กำลังใจทำกายภาพบำบัดประจำสม่ำเสมอ ดูแลอาหารดี ๆ ที่มีประโยชน์เพื่อซ่อมแซมส่วนสมองที่ฟื้นฟูได้ และฟื้นฟูกล้ามเนื้อให้กลับมาแข็งแรง และใช้ชีวิตปกติได้ อยู่ที่จิตใจและการปฏิบัติตัว
มูลเหตุของการเกิดโรค
1. จากการบริโภคอาหารที่ไม่เคยบริโภค หรืออาหารให้โทษ 8 ประการคือ กินของดิบ บูด เน่า ของหยาบ กินมากเกินไปกินน้อยเกินไป กินผิดเวลา หรือกินเนื้อสัตว์มากเกินควร
กรณีมีการบูดเน่าจากอาหารเหลือจากการกินที่มากเกินไป กินฤทธิ์เย็นเป็นเวลานาน ๆ น้ำย่อยซึ่งเป็นธาตุไฟ ไม่สามารถย่อยได้หมด เหลือเป็นส่วนเกินแล้วมาบูดเน่า เกิดก๊าซเสียเพิ่มความร้อนของธาตุไฟให้มากขึ้น เมื่อไฟมากขึ้นก็จะลอยขึ้นข้างบนเป็นความดันสูง เมื่อไฟมากขึ้นลมก็จะมากขึ้นด้วย เมื่อพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วก็ทำให้เกิดการตีบตันของเส้นเลือด หรือการปริแตกที่สมอง ซึ่งเป็นส่วนบนสุดที่มีเส้นเลือดฝอยเยอะมาก
2. การกระทบร้อน กระทบเย็นมากเกินไป
สมุนไพรที่ใช้รักษา
1. การรักษาด้วยยาสมุนไพร
– ใช้สมุนไพรที่ช่วยการไหลเวียนของเลือด เช่น เบญจกูล ขิง พริกไทย มหาหิงคุ์
– ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ได้แก่ ครีมพริก ครีมไพล
– ยาสามัญประจำบ้าน ได้แก่ ยาธรณีสันฑะฆาต
2.การฟื้นฟูสภาพทางหัตถเวชกรรมไทย คือ การนวดเส้นพื้นฐาน หรือ จุดนวดเพื่อรักษาและฟื้นฟูโรค/อาการ หรือ การประคบสมุนไพร การอบไอน้ำสมุนไพร
การให้คำแนะนำและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
1. การให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยและญาติ ในการฟื้นฟูสุขภาพด้วยวิธีการทางหัตถเวชกรรมไทย นวดและอบสมุนไพร
2. ฝึกออกกำลังโดยใช้กล้ามเนื้อและอวัยวะแขน – ขาข้างที่อ่อนแรง โดยการชักรอก การบริหารร่างกายอย่างสม่ำเสมอและสนับสนุนให้ญาติมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือด้วย
3. งดอาหารแสลง เช่น ข้าวเหนียว หน่อไม้ เหล้าเบียร์ เครื่องในสัตว์ ยาแก้ปวด อาหารที่ทำให้ เลือดไหลเวียนไม่ดี อาหารรสเย็น เช่น ฟัก แตงโม หรืออาหารที่ส่งเสริมการเกิดโรคประจำตัว เช่น รสหวาน มัน เค็ม
4. รับประทานมะขามเปียกเพื่อช่วยในการระบายท้อง
5. ไม่นอนทับแขน ขาข้างที่เป็น ไม่ควรนอนดึก หรือทำงานเกินกำลัง
6. ทำจิตใจให้สบายผ่องใส บริหารใจด้วยการกำหนดลมหายใจเข้าออก
7. ให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศเย็นเกินไป
8. หางานอดิเรกทำเพื่อคลายความเครียด
9. เมื่อมีอาการอัมพาตแล้ว ควรรีบฟื้นฟูสมองและควบคุมน้ำหนักตัว บริหารกายภาพบำบัดให้หายเร็วที่สุด
พท.โสมนัส สุทรวิภาต
แพทย์แผนไทย