เหน็บชา (Beriberi) คือ โรคที่มีสาเหตุมาจากการขาดวิตามินบี 1 หรือไทอามีน (Thiamine) ซึ่ง ร่างกายของมนุษย์ไม่สามารถสังเคราะห์เองได้ และต้องได้รับจากการรับประทานอาหาร หรืออาหารเสริม โดยวิตามินบี 1 จะมีหน้าที่ในการเร่งกระบวนการเผาผลาญอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเพื่อให้ได้น้ำตาลกลูโคส ซึ่งร่างกายต้องนำไปใช้ในการทำงาน การเจริญเติบโตและการเหนี่ยวนำของกระแสประสาทในร่างกาย ทำให้ร่างกายทำงานได้เป็นปกติ นอกจากนั้น วิตามินบี 1 สามารถอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้เพียง 30 มิลลิกรัมเท่านั้น พบมากในกล้ามเนื้อและกระจายตัวอยู่ในอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น สมอง หัวใจ ไต และตับ ครึ่งชีวิต (Half-life) ของวิตามิน บี 1 จะมีค่าประมาณ 9-18 วัน และจะถูกขับออกทางไต
ลักษณะอาการของเหน็บชา
เมื่อร่างกายขาดวิตามินบี 1 จะทำให้เป็นเหน็บชา และทำให้เกิดอาการหลัก ๆ ได้แก่ หอบเหนื่อย หัวใจเต้นเร็ว และตับโต เป็นต้น เหน็บชาในกรณีนี้จะมีความแตกต่างจากอาการเหน็บกินที่พบได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ซึ่งอาการชาแบบนี้จะไม่มีอันตรายมาก และสามารถแก้ไขได้ด้วยการเลี่ยงหรือเปลี่ยนอิริยาบถที่ทำให้เกิดอาการชา
อาการที่พบได้เมื่อเริ่มเป็นใหม่ ๆ จะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร ท้องอืดเฟ้อ ท้องผูก ความจำเสื่อม รู้สึกชา เมื่อไปตรวจร่างกายแล้วส่วนใหญ่จะไม่พบสิ่งผิดปกติ ถ้าเป็นมากขึ้น จะรู้สึกชาตามมือและเท้า ปวดแสบและเสียวเหมือนถูกมดกัด เป็นตะคริว ปวดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อน่อง แขนขาไม่มีแรง เมื่อมากขึ้นหัวใจทำงานหนัก
เมื่อปล่อยไว้ไม่ดูแลรักษาจะมีอาการมากขึ้นไปตามลำดับ คือ
– ชานิ้วมือหรือปลายมือปลายเท้า เช่น จับของไม่ได้จะหล่น
– ชาแขนตลอดฝ่ามือ นิ้วมือ เช่น ขับมอเตอร์ไซต์ไม่ได้ กำไม่สะดวก
– ชาขา น่องตลอดฝ่าเท้า นิ้วเท้า
– ชาตัวซีกซ้ายหรือซีกขวา และมีอาการอื่น ๆ เช่น อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เจ็บกล้ามเนื้อน่อง รู้สึกเหน็บแปล๊บ ๆ ปลายมือปลายเท้า
– หัวใจโตขึ้น
– ขาบวม ปวดเมื่อยน่องเป็นตะคริวบ่อย ๆ ถ้าเป็นมาก ๆ อาจถึงขั้นอัมพาตได้
โรคเหน็บชาที่พบบ่อย
1. เหน็บชาชนิดเปียก (Wet Beriberi) ผู้ป่วยจะมีอาการบวมร่วมกับอาการชาปลายมือปลายเท้า โดยมีอาการดังนี้
– ชาที่ปลายมือและปลายเท้า
– มีอาการบวม น้ำคั่งในช่องท้องและช่องปอด
– ขาส่วนล่างบวม
– หอบเหนื่อย
– หายใจตื้นขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ
– ตื่นนอนขึ้นมามีอาการหายใจตื้น
– หัวใจโตและเต้นเร็ว อาจทำให้หัวใจวายในกรณีไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที
2. โรคเหน็บชา อ่อนแรง – ลีบ(ชนิดผอมแห้ง) คือ มีการอักเสบของปลายประสาทเท้าและขา บางครั้งรู้สึกชาหรือแสบร้อนบริเวณมือและเท้า เป็นนานเข้าก็จะทำให้เดินไม่สะดวก
เหน็บชาชนิดผอมแห้ง (Dry Beriberi) ผู้ป่วยจะมีอาการชาแบบไม่บวมดังต่อไปนี้
– ชาปลายมือและปลายเท้า
– กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรงไม่มีกำลัง โดยเฉพาะที่ขาส่วนล่าง อาจทดสอบได้โดยให้ผู้ป่วยนั่งยอง ๆ แล้วลุกขึ้นเอง ซึ่งผู้ป่วยจะทำไม่ได้
– เจ็บปวดตามร่างกาย
– พูดไม่ชัด พูดติดขัด
– อาเจียน
– มีความผิดปกติทางจิตใจ สับสน
– ตาขยับเองโดยที่ไม่รู้ตัว
– อัมพาต
สาเหตุของเหน็บชา
เหน็บชา (Beriberi) คือ โรคที่ขาดวิตามินบี 1 หรือไทอามีน (Thiamine) ซึ่งมีสาเหตุดังนี้
– รับประทานอาหารที่ขาดวิตามินบี 1 คือ ขาดการบริโภคอาหารกลุ่มธัญพืช หรือรับประทานข้าวที่ขัดจนขาว (วิตามินบี 1 ติดที่เมล็ดข้าวที่โดนขัดจนหมด)
– เป็นโรคลำไส้เรื้อรังทำให้ดูดซึมวิตามินได้น้อยมาก
– การหุงข้าวเช็ดน้ำ ทำให้เสียวิตามินบี 1
– การเจ็บป่วยอยู่นาน ทำให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ
– รับประทานเนื้อสัตว์หมู่โปรตีนน้อยไป
– กินอาหารที่จับตัวกับวิตามินทำให้ร่างกายได้รับวิตามินบี 1 ไม่เพียงพอ หรือเกิดจากการรับประทานชา เมี่ยง หมากพลู ปลาร้า อาหารแปรรูป ฯลฯ ซึ่งอาหารจำพวกนี้มีสารทำลายวิตามินบี 1 หรือไม่ก็อาจเกิดจากภาวะที่ร่างกายมีการเผาผลาญอาหารเพิ่มขึ้น จึงมีความต้องการวิตามินบี 1 สูงขึ้น
– ภาวะที่ร่างกายมีการเผาผลาญอาหารเพิ่มขึ้น ต้องการวิตามินบี 1 สูง เช่นทำงานหนัก ความเครียดสูง ภาวะติดเชื้อ ต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน โรคตับเรื้อรัง ติดสุราเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ มีลูกอ่อน คนกินอาหารแป้งและน้ำตาลมาก เป็นต้น
รวมไปถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดการขาดวิตามินบี 1 ได้แก่
– ติดสุราเรื้อรัง เพราะแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ลดการดูดซึมของวิตามินบี 1 และเพิ่มการขับวิตามินบี 1 ออกจากร่างกาย ทำให้ร่างกายดูดซึมและสะสมวิตามินบี 1 ไม่เพียงพอ
– เหน็บชาจากกรรมพันธุ์ เป็นภาวะที่ทำให้ร่างกายต่อต้านการดูดซึมวิตามินบี 1
– ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism)
– การผ่าตัดรักษาโรคอ้วน (Bariatric surgery)
– โรคเอดส์ (AIDS)
– ท้องเสียเป็นเวลานาน หรือการใช้ยาขับปัสสาวะ
– ผู้ที่กำลังรับการรักษาด้วยการฟอกไต
– อาหาร โดยเฉพาะผู้ที่ชอบรับประทานอาหารที่มีสารทำลายวิตามินบี 1 เช่น ปลาร้า ใบชา ใบเมี่ยง หมากพลู ปลาส้มดิบ แหนมดิบ หอยลายดิบ และปลาน้ำจืดดิบ
– ผู้ที่เป็นโรคตับเรื้อรัง เช่น ตับแข็ง ซึ่งจะทำให้ตับไม่สามารถนำวิตามินบี 1 ไปใช้ประโยชน์ได้
– คนวัยฉกรรจ์ที่ต้องออกแรงหรือทำงานหนัก ๆ เช่น กรรมกร ชาวนา นักกีฬา รวมถึงผู้ต้องขังในเรือนจำ และชาวประมงที่ออกทะเลเป็นเวลานาน ๆ
– ทารกที่กินนมมารดาเพียงอย่างเดียว โดยที่มารดาขาดวิตามินบี 1 หรือเป็นโรคเหน็บชา (ทำให้น้ำนมไม่มีสารอาหารที่เพียงพอสำหรับทารก) หรือทารกที่กินนมซึ่งไม่มีส่วนผสมของวิตามินบี 1
– หญิงตั้งครรภ์และผู้ที่กำลังให้นมบุตร
– ผู้ที่รับประทานอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลมาก แต่รับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 1 น้อย
ภาวะแทรกซ้อนของเหน็บชา
การขาดวิตามินบี 1 อย่างรุนแรงอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบประสาท สมอง กล้ามเนื้อ หัวใจ กระเพาะและลำไส้
– ภาวะหัวใจวายที่เกิดจากโรคเหน็บชา หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เสียชีวิตได้
– โรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) อาจเกิดขึ้นจากการรักษาด้วยการให้อาหารทางหลอดเลือด
– อาการขาดวิตามินบี 1 เกิดขึ้นได้จากการขาดวิตามินบีชนิดอื่น ๆ
– ผู้ป่วยเหน็บชา Wernicke-Korsakoff Syndrome ในรายที่เป็นมากอาจทำให้มีอาการทางจิตที่เรียกว่า Korsakoff’s Psychosis
แนวคิดตามศาสตร์ธรรมชาติบำบัด และการแพทย์แผนไทย
ถือว่าเป็นจากความเสื่อมจากการตรากตรำ ทำงานหนัก ความเครียด ความกดดัน ทำให้มีภาวะขาดความไม่สมดุลของธาตุ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ถ่ายไม่ออก การดำรงอิริยาบถท่าใดท่าหนึ่งนานเกินควร ทำให้การไหลเวียนของธาตุลม ปรับสมดุลของธาตุ และอุตุความร้อนเย็นภายใน และภายนอกร่างกาย ที่มากระทบให้สมดุล การไหลเวียนของลมเกิดการอั้นตามจุดต่าง ๆ ทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่ดี เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่พอ เกิดการชา เป็นเหน็บชา
วิธีการดูแลและป้องกัน
1. ป้องกันการขาดวิตามินบี 1 ได้ด้วยการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 1 รวมไปถึงวิตามินชนิดอื่น ๆ ได้แก่ ถั่ว และธัญพืชที่อุดมด้วยวิตามินบี 1 เช่น ลูกเดือย ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วเขียว งา กลุ่มธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ ข้าวฟ่าง จมูกข้าวสาลี รำข้าว ธัญพืชเต็มเมล็ดหรือโฮลเกรน (Whole Grains)
2. เลือกรับประทานจากผักบางชนิด เช่น หน่อไม้ฝรั่ง ฟักทอง กะหล่ำดาว (Brussels Sprout) ผักโขม หน่อไม้ฝรั่ง เห็ด และผลไม้เช่น แตงโม น้ำส้ม
3. เลือกรับประทานอาหารจากเนื้อวัว เนื้อปลา และเนื้อหมูไม่ติดมัน ตับ ไต และไข่แดง นมและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น โยเกิร์ต
4. สำหรับปัญหาเกี่ยวกับระบบกล้ามเนื้อและระบบประสาท ควรมีการวางแผนการออกกำลังกายให้ครบถ้วนเป็นประจำ และอาจปรึกษานักกายภาพบำบัดหรือนักวิทยาศาสตร์การกีฬาเบื้องต้นได้ หากต้องการคำแนะนำการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับตนเอง
5. หญิงมีครรภ์และให้นมบุตร ควรทานอาหารที่มีวิตามินบี 1 ให้มาก
นอกจากนั้น ควรจำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดเหน็บชาให้น้อยลงได้ เพราะแอลกอฮอล์มีผลต่อร่างกายในการดูดซึมวิตามินบี 1 โดยเฉพาะผู้ที่ติดสุราหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ควรได้รับการตรวจภาวะขาดวิตามินบี 1 อย่างสม่ำเสมอ และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจมีสารทำลายวิตามินบี 1 เช่น ปลาร้า ใบชา ใบเมี่ยง หมากพลู ปลาส้มดิบ แหนมดิบ หอยลายดิบ ปลาน้ำจืดดิบ เป็นต้น
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมออกกำลังกายพอประมาณตามวัย รับประทานอาหารที่มีคุณค่าอาหาร ดูแลระบบขับถ่ายไม่ให้ท้องผูก ดื่มน้ำมากขึ้น ไม่ทำงานหนักใช้ร่างกายหนักเกินไป ไม่ดำรงอิริยาบถนานเกินควร คลายความเคร่งเครียดการถูกกดดัน หาหมอนวดเพื่อคลายเส้นคลายกล้ามเนื้อ ผ่อนคลายความเครียดบ้าง ออกกำลังกาย สวดมนต์ ทำสมาธิ
สิ่งที่ควรงด หรือเลี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดอาการ
1. การให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วย ในการฟื้นฟูสุขภาพด้วยวิธีการทางหัตถเวชกรรมไทย นวดและอบสมุนไพร
2. ฝึกออกกำลังโดยใช้กล้ามเนื้อและอวัยวะแขน – ขา เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต
3. งดอาหารแสลง เช่น ข้าวเหนียว หน่อไม้ เหล้าเบียร์ เครื่องในสัตว์ ยาแก้ปวด อาหารที่ทำให้ เลือดไหลเวียนไม่ดี อาหารรสเย็น เช่น ฟัก แตงโม หรืออาหารที่ส่งเสริมการเกิดโรคประจำตัว เช่น รสหวาน มัน เค็ม
4. ทำจิตใจให้สบายผ่องใส บริหารใจด้วยการกำหนดลมหายใจเข้าออก
5. ให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศเย็นเกินไป
6. หางานอดิเรกทำเพื่อคลายความเครียด
สมุนไพรที่ใช้รักษา
1. การรักษาด้วยยาสมุนไพร : แก้โดยใช้สมุนไพรที่เพิ่มการไหลเวียนของธาตุลมมีฤทธิ์ร้อน ๆ อุ่น ๆ เพื่อช่วยกระจายเลือดลม เช่น เมล็ดพริกไทย ขิง ดีปลี เถาวัลย์เปรียง เถาเอ็นอ่อน รากช้าพลู เถาสะค้าน ถ่ายล้าง ขับลมที่เป็นก้อน เป็นเถาดาน อั้นทางเดินของธาตุลมที่จะไหลเวียนได้สะดวก พร้อมกับบำรุงธาตุและบำรุงกำลัง
– ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ได้แก่ ยาน้ำมันสมุนไพร
– ยาสามัญประจำบ้าน ได้แก่ ยาธรณีสันฑะฆาต, ยากษัยเส้น
2.การฟื้นฟูสภาพทางหัตถเวชกรรมไทย คือ การนวดเส้นพื้นฐาน หรือจุดนวดเพื่อรักษาและฟื้นฟูโรค/อาการ หรือการประคบสมุนไพร การอบไอน้ำสมุนไพร
3. แนะนำให้กินข้าวซ้อมมือ ข้าวไม่ขัดขาวเป็นประจำหรือนำข้าวซ้อมมือมาผสมกับข้าวขาว
พท.โสมนัส สุทรวิภาต
แพทย์แผนไทย