ความหมายตามหลักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ
ปวดประจำเดือนหมายถึง อาการปวดท้องขณะมีประจำเดือน พบได้ประมาณ 70% ของผู้หญิงในวัยมีประจำเดือน
อาการปวดประจำเดือน แบ่งได้ 2 ชนิด คือ
1. ปวดประจำเดือนชนิดธรรมดา จะปวดเล็กน้อยเมื่อมดลูกบีบตัวให้ประจำเดือนไหลออก สามารถทำงานได้ตามปกติ
2. ปวดประจำเดือนชนิดผิดปกติ ปวดรุนแรงจนต้องพักงาน
ลักษณะอาการของปวดประจำเดือน
จะเริ่มมีอาการก่อนมีประจำเดือนไม่กี่ชั่วโมง และเป็นอยู่ตลอดช่วง 2-3 วันแรกของประจำเดือน โดยมีอาการปวดบิดเป็นพัก ๆ ที่บริเวณท้องน้อย บางคนอาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ใจคอหงุดหงิดร่วมด้วย
ถ้าปวดรุนแรงอาจมีอาการเหงื่อออกตัวเย็น มือเท้าเย็น เชื่อว่าอารมณ์มีส่วนเสริมความรุนแรงของอาการปวด คนที่มีอารมณ์อ่อนไหว มีความเครียดจะมีอาการปวดรุนแรงกว่าคนที่มีอารมณ์ดี
สาเหตุของโรคปวดประจำเดือน
ปวดประจำเดือนชนิดธรรมดา อาจมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างมีประจำเดือน หรือมีการหลั่งสารโพรสตาแกลดิน (Prostaglandins) มามากกว่าปกติ ทำให้มดลูกมีการบีบเกร็งตัว จนเกิดอาการปวดที่บริเวณท้องน้อย
ปวดประจำเดือนชนิดผิดปกติ จะมีอาการปวดเมื่อมีอายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไป โดยก่อนหน้านี้ไม่เคยมีอาการปวดประจำเดือนเลย มักมีความผิดปกติของมดลูกหรือรังไข่ เช่น เนื้องอกของมดลูก เยื่อบุมดลูกงอกผิดที่ ปีกมดลูกอักเสบเรื้อรัง หรือมดลูกย้อยไปด้านหลังมาก อาจต้องตรวจภายในเพื่อค้นหาสาเหตุให้แน่นอน
ช่วงขณะที่มีรอบเดือน หากการไหลของเลือดไม่สะดวกเกิดความคั่งค้างจนสะสมเป็นก้อน การกินอาหารที่มีฤทธิ์เย็น กินน้ำแข็ง กินน้ำเย็น ระหว่างมีรอบเดือน ทำให้เลือดมาน้อยและปวดท้อง เมื่อกินยาแก้ปวด ทำให้กล้ามเนื้อมดลูกคลายการบีบตัว อาการปวดจะลดลง การขับเลือดออกก็จะน้อยลง เกิดการคั่งค้าง จนสะสมเป็นก้อนที่อุ้งเชิงกราน รังไข่ ท่อนำไข่ และพัฒนาเป็นซีสต์ได้
วิธีการดูแล และป้องกัน
ควรวางกระเป๋าน้ำร้อนไว้ที่ท้องน้อยเพื่อให้ความอบอุ่น และเลือดจะได้ไหลเวียนสะดวกขึ้น รับประทานอาหารที่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย เพื่อให้ประจำเดือนไหลออกได้อย่างสะดวก ดื่มน้ำขิง ดื่มน้ำเปล่าบ่อย ๆ ออกกำลังกาย เช่น โยคะ ท่าบริหารร่างกาย หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดโดยไม่จำเป็น
แนวคิดตามศาสตร์ธรรมชาติบำบัด และการแพทย์แผนไทย
อาการปวดประจำเดือนนี้ เป็นสิ่งที่เกิดกับผู้หญิงมาทุกยุคทุกสมัย มาตั้งแต่สมัยโบราณกาล บรรพบุรุษหรือหมอสมุนไพร ได้ค้นพบวิธีการรักษาที่สาเหตุของอาการไว้ได้ตั้งแต่โบราณแล้ว
แนวคิดของแพทย์แผนไทย : ธาตุน้ำ เช่น เลือด น้ำเหลือง และของเสียต่าง ๆ ต้องพึ่งพาธาตุลม เพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหว ไหลเวียน และขับออก ประจำเดือนหรือโลหิตระดู ทางการแพทย์แผนไทย ถือว่าเป็นของเสียที่จำเป็นต้องขับทิ้งออก ถ้าขับออกไม่ดี มีการคั่งค้าง จะเกิดการหมักหมม เน่าเสีย มีกลิ่นเหม็น ดังนั้น เพื่อให้ธาตุลมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยขับของเสียออกไปให้หมดนั้น ควรใช้สมุนไพรที่ช่วยกระจายลม ฟอกโลหิต ประจุโลหิตให้สมบูรณ์ เพื่อรุล้าง สิ่งที่ไม่ควรอยู่ในร่างกาย ทั้งน้ำเหลืองเสีย เลือดเสียที่เป็นลิ่ม เป็นก้อน เป็นเมือกมันออกไปให้หมด เมื่อโลหิตที่คั่งค้างถูกขับหมดแล้ว อาการปวดประจำเดือนจะหายได้อย่างเป็นธรรมชาติ โดยไม่ต้องพึ่งพายาแก้ปวด แล้วอาจเสริมด้วยยาบำรุงโลหิต เพื่อให้เลือดลมสมบูรณ์ต่อไป
สมุนไพรที่ใช้รักษา
สมุนไพรที่ใช้รักษาอาการปวดประจำเดือน เช่น
ไพล แก้มดลูกอักเสบ ฟกช้ำ บวม แก้ปวดกล้ามเนื้อ
ว่านชักมดลูก แก้การอักเสบของมดลูก แก้มดลูกหย่อน
ยาประสะไพล แก้จุกเสียด ระดูไม่ปกติ ขับน้ำคาวปลาหลังคลอดบุตร แก้ปวดประจำเดือน
พท.โสมนัส สุทรวิภาต
แพทย์แผนไทย