ความหมายตามหลักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ
ร่างกายคนเราเปรียบเสมือนเครื่องจักรที่ต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง การนอนก็เปรียบเสมือนให้เครื่องจักรได้หยุดพัก แต่ยังความพิเศษไปกว่านั้นอีก คือ ร่างกายมนุษย์สามารถใช้ช่วงเวลานอนหลับซ่อมแซมและฟื้นฟูตนเอง การนอนหลับไม่เพียงพอทั้งด้านระยะเวลาและคุณภาพ จะเป็นบ่อเกิดของสารพัดโรค และทำให้โรคประจำตัวที่เป็นอยู่นั้นทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น นั่นคือเหตุผลว่าทำไมคนเราต้องใช้เวลาถึง 1 ใน 3 ของชีวิตให้กับการนอน
ลักษณะอาการนอนไม่หลับ
นอนไม่หลับ หลับไม่สนิท ใช้เวลานานกว่าจะหลับ ตื่นกลางดึก ฝันบ่อย ไม่สดชื่นในยามเช้า เครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล
สาเหตุของนอนไม่หลับ
1. โรคกังวล / โรคประสาทกังวล อาจมีสาเหตุทางกรรมพันธุ์ หรือเกิดจากบุคลิกเดิม วิตกกังวลง่าย และขี้อาย นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากความเครียดทางจิตใจ ปัญหาครอบครัว หน้าที่การงานหรือการเรียน มีเรื่องรบกวนจิตประสาท ความเครียดวิตกกังวลที่แก้ปัญหาไม่ได้ ก็จะเกิดการนอนไม่หลับตามมา ฯลฯ
2.คอพอกเป็นพิษ เกิดจากต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกิน โดยเหนือการควบคุมของต่อมใต้สมอง ให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ (ไทร็อกซีน) ออกมาในกระแสเลือดจำนวนมาก จนไปกระตุ้นเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายให้ทำงานมากผิดปกติ
3. โรคของหญิงวัยหมดประจำเดือน เป็นความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายร่วมกับความแปรปรวนทางด้านจิตใจและอารมณ์
4. เหตุเกิดจากอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เพราะในร่างกายของคนเราระหว่างเซลล์แต่ละเซลล์มีคลื่นไฟฟ้าเล็ก ๆ วิ่งผ่านไม่ถึงกันตลอด ซึ่งจะถูกกระแสไฟฟ้าจากเครื่องใช้ไฟฟ้ารบกวนได้ง่าย ถ้าวางไว้ใกล้ตัว โดยเฉพาะในห้องนอน ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ เครื่องเสียง คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ จะทำให้กระแสไฟเหล่านั้นรบกวนกระแสไฟฟ้าในร่างกายทุกวัน นาน ๆ ไปก็ไปกวนกระแสไฟฟ้าในร่างกาย ทำให้ปวดเมื่อยเนื้อตัว ศีรษะ ปวดต้นคอ ปวดไหล่ หรือเกิดโรคอื่น ๆ เช่น ไมเกรน อาการคลื่นไส้ที่หาสาเหตุไม่ได้
5. ดื่มเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน ที่ทำให้ประสาทตื่นตัว โดยเฉพาะการกินหลังบ่าย 3 ทำให้นอนไม่หลับในคืนนั้นได้
วิธีการดูแล และป้องกัน
แต่ละโรคจะมีการรักษาที่แตกต่างกันออกไป
1. โรคกังวล / โรคประสาทกังวล ควรหลีกการใช้ยากล่อมประสาท เพราะอาจทำให้ติดยาได้ ควรหาคนที่สามารถพูดคุย รับฟังและระบายปัญหา และให้กำลังใจกัน หมั่นออกกำลังกาย ทำจิตใจให้สงบ ฝึกผ่อนคลายความเครียด ฟังบทสวดมนต์ หรือเพลงเบา ๆ ที่มีโทนต่ำ ๆ สม่ำเสมอ เพื่อให้มีความสงบหรือทำสมาธิ ฝึกหายใจยาว ๆ ลึก ๆ ตัดความวิตกกังวลทุกอย่างไป
2. คอพอกเป็นพิษ อาจจะให้ยาต้านไทรอยด์ ผ่าตัด หรือกินน้ำแร่ตามอาการที่เป็น แต่ยาต้านไทรอยด์อาจมีผลเสียตามหลัง ทำให้ร่างกายเป็นโรคติดเชื้อง่าย หรือเกิดอาการแพ้ ผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง อาจจะขอรับคำปรึกษาจากหมอสมุนไพร หรือแพทย์แผนไทยที่มีความรู้ความชำนาญ เพื่อหาตัวช่วยในการใช้ยาจากสมุนไพร
3. โรคของหญิงวัยหมดประจำเดือน ถ้ามีอาการเพียงเล็กน้อยไม่ต้องให้ยารักษาแต่อย่างใด ควรเข้าใจว่า เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตามธรรมชาติ และหายได้เองในไม่ช้า การรักษาโดยให้ยาจะเป็นในกรณีผู้ป่วยมีอาการไม่สบายมาก โดยให้ยาตามอาการที่เป็นเพียงเท่านั้น
4. งดใช้เครื่องมือไฟฟ้าที่มีคลื่น เช่น โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ ก่อนนอน 2 ชั่วโมง เพื่อให้สมองได้ผ่อนคลายไม่ตื่นตัว ปิดไฟมืด ๆ หรือสลัว ๆ เพื่อให้มีการหลับได้ลึกมากขึ้น ไม่มีเสียงมารบกวนการนอน
5. งดดื่มเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีนหลังบ่าย 3 ซึ่งอาจทำให้นอนไม่หลับในคืนนั้นได้ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารอิ่ม อาหารมื้อหนักและก่อนนอนเพื่อให้กระเพาะลำไส้ได้พักผ่อนและป้องกันโรคกรดไหลย้อน ถ้าหิวควรดื่มนมหรือน้ำเต้าหู้อุ่น ๆ ข้าวต้ม หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารย่อยยาก
สมุนไพรที่ใช้รักษา
สมุนไพรที่ช่วยในการนอนหลับ คือ ขี้เหล็ก โดยทำเป็นอาหารในมื้อเย็น กลุ่มสมุนไพรที่มีส่วนช่วยคลายเครียด ผ่อนคลายของระบบประสาทประเภท เช่น เกสรทั้งห้า ได้แก่ ดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี เกสรบัวหลวง หรือน้ำลอยดอกมะลิ น้ำต้มใบเตย ผสมในยาหอม หรือน้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ ก็จะช่วยให้นอนหลับดีขึ้น
พท.โสมนัส สุทรวิภาต
แพทย์แผนไทย