ความหมายตามหลักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ
อาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อเป็นสิ่งที่ร่างกายเริ่มฟ้องความบกพร่อง และควรจะได้รับการดูแลตั้งแต่เบื้องต้น ก่อนจะบานปลายให้ร่างกายเสื่อมถอย จนส่งผลกระทบแก่โครงสร้างของกระดูก เส้นเอ็น เส้นประสาท ระบบการไหลเวียนเลือด และหัวใจ
ลักษณะอาการของปวดเมื่อย
1. ปวดเมื่อยจากการทำงานหนักเกินกำลัง กล้ามเนื้อเส้นเอ็นอ่อนล้า เมื่อมีการใช้งานหนักมีการอักเสบเจ็บตลอดเวลา บริเวณปวดจะร้อนกว่าส่วนที่ไม่อักเสบ รู้สึกเสียวแปล๊บ ตึง หรืออ่อนกำลัง
2. ปวดเมื่อยจากความเหนื่อยล้า หรือความเครียด จะมีกล้ามเนื้อแข็งตึง ปกติถ้าอยู่เฉยจะไม่มีอาการปวดตึง เมื่อเคลื่อนไหวขยับท่าจะปวดเสียว เจ็บตึง
สาเหตุของปวดเมื่อย
ปวดเมื่อยความทรมานที่บรรเทาได้เมื่อแก้ถูกทาง โดยหาสาเหตุการเกิดอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ เช่น
1. การใช้ร่างกายอย่างหนัก เช่น ทำงานหนักเกินกำลัง การดำรงอิริยาบถท่าใดท่าหนึ่งนานเกินควร จนกล้ามเนื้อเส้นเอ็นอ่อนล้า หรือไปออกกำลังกายที่หักโหม แล้วมีอาการผิดท่าขึ้นมาร่างกายจะแสดงอาการปวดเพื่อให้ต้องหยุดพัก แต่ต้องมีการยืดเหยียดเพื่อคลายความหดเกร็งในส่วนนั้น
2. การไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย เป็นสาเหตุที่ทำให้เลือดไม่ไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ จึงเกิดการปวดขึ้นมาเพื่อให้มีการขยับออกกำลังกาย ยืดเหยียด ให้เลือดไปไหลเวียนเลี้ยงส่วนนั้น ๆ
3. การที่ระบบประสาทมีความตึงเครียด กล้ามเนื้อหดเกร็งเองโดยสาเหตุอื่น ๆ จากที่เลือดและการไหลเวียนไม่ดี
วิธีการดูแล และป้องกัน
1. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อ เช่น โยคะ เต้นแอโรบิก ว่ายน้ำ เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน แกว่งแขน-ขา
2. ไม่ใช้ร่างกายหักโหมเกินไป
3. ไม่ควรนั่ง ๆ นอน ๆ หรือทำอะไรในท่าเดิมนาน ๆ
4. อดหลับอดนอน ภาวะเครียด ให้หลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ เมื่อมีอาการปวดมากทางแพทย์จะให้ยาระงับอาการปวดเช่นกลุ่มยาแก้ปวดพื้นฐาน หรือแรงกว่านั้นก็จะเป็นกลุ่มแก้กล้ามเนื้ออักเสบระงับอาการปวด ร่วมกับยาคลายกล้ามเนื้อเพื่อลดอาการเกร็ง ที่ไปบีบเส้นประสาทให้คลายลงก็ระงับอาการปวดได้อย่างรวดเร็ว เมื่อใช้ยาเป็นเวลานาน ๆ ก็จะเกิดมีผลข้างเคียงคือกัดกระเพาะ มีกรดเกิน เป็นกรดไหลย้อน
แนวคิดตามศาสตร์ธรรมชาติบำบัดและการแพทย์แผนไทย
อาการปวดเมื่อยสาเหตุที่ชัดเจน คือ การดำรงอิริยาบถท่าใดท่าหนึ่งนานเกินควร นั่งนาน นอนนาน ยืนนาน เดินนาน การใช้ร่างกายหนักเกิน การตรากตรำ เหนื่อยล้าจากการใช้ร่างกายและสมองที่หนักเกินไป กล้ามเนื้อเส้นเอ็นติดขัด หดเกร็ง เกิดการอักเสบ
นอกจากนี้แล้ว แพทย์แผนไทยยังมองไปถึงการไม่สมดุลของธาตุ การสะสมของพิษและของเสีย ที่เกิดจากการรับประทานอาหารไม่มีคุณภาพ จนเกิดการเดินไม่สะดวกของธาตุลม ที่ถูกอั้น คั่งค้างตามส่วนต่าง ๆ ทำให้โลหิตไหลเวียนไม่ดี เป็นพิษได้
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ ถ้าเปรียบเทียบกระเพาะอาหารเราเหมือนเตาไฟที่พร้อมปรุงอาหาร ซึ่งจะมีความอุ่นอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อเรากินอะไรที่เย็นมาก ๆ เข้าไป เย็นไปปะทะกับความร้อนคือไฟย่อยอาหารถ้ามากกว่าจะเกิดก๊าซขึ้นมา เมื่อมีมากขึ้นก็จะไปขัดขวางการเดินไหลเวียนของธาตุน้ำคือเลือดไหลเวียนไม่ดี อีกกรณีคือการกินอาการเกินกำลังธาตุไฟที่จะย่อยกินแล้วการเผาผลาญไม่ดีย่อยได้ไม่หมด เกิดการหมักหมมทำให้เกิดลมในลำไส้ เมื่อมีลมซึมไปตามการไหลเวียนของเลือด โดยอุดกั้นที่ไหนก็จะมีอาการปวดที่นั่นแสดงออกมา
แนวทางการรักษา และสมุนไพรที่ใช้รักษา
– ประคบร้อน ประคบเย็น เลี่ยงการใช้ยาแก้ปวด
– นวดหรือยืดกล้ามเนื้อบริเวณที่เป็น
– สมุนไพรที่ช่วยเรื่องการขับลม กระจายลม ให้ระบบเลือด ลม มีการไหลเวียน หมุนเวียนเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้ดี เช่น ข่า ขิง ไพล พริกไทย
– สมุนไพรที่ช่วยเรื่องบำรุงกำลังแก้ปวดเมื่อย เช่น เถาวัลย์เปรียง เถาเอ็นอ่อน
– สมุนไพรที่มีฤทธิ์ระบาย เพื่อขับถ่ายของเสีย ขับลมที่คั่งค้างในเส้นและกล้ามเนื้อ
ออกกำลังกาย
ฤๅษีดัดตน ยืดเหยียด
พท.โสมนัส สุทรวิภาต
แพทย์แผนไทย