ลักษณะอาการของการใช้สายตาที่มากเกิน
ตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน โฟกัสได้ช้า แสบตา ตาเมื่อยล้า ปวดกระบอกตา ตาแห้ง หรือน้ำตาไหลมาก บางรายอาจปวดศีรษะ มึนศีรษะ นอนไม่หลับ
สาเหตุของการใช้สายตาที่มากเกิน
ดวงตาอาศัยเลือดเป็นตัวสำคัญในการหล่อเลี้ยงให้มองเห็น และจำแนกแยกแยะได้ เมื่อเลือดสมบูรณ์เพียงพอแววตาจึงสดใสและมองเห็นชัดเจน การใช้สายตาแต่พอควร เลือดยังสามารถมาหล่อเลี้ยงได้เพียงพอ
การจ้องดูนาน ๆ เช่น การอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือดูโทรทัศน์เป็นเวลานาน นอนอ่านหนังสือ อ่านหนังสือขณะรถวิ่งหรือในที่แสงสว่างไม่เพียงพอ ก้มหน้าก้มตาดูโทรศัพท์มือถือ หรือเล่นเกมนาน ๆ การใช้สายตาต่อเนื่องเป็นเวลานานโดยไม่หยุดพักเลือดจะลดทอนลง ทำให้เกิดอาการเมื่อยตา ตาแห้ง สายตาพร่ามัว หรือสายตาสั้น นอกจากนี้ยังไปกระทบหัวใจ ส่วนที่ดูแลจิตประสาททำให้นอนไม่หลับ ปวด มึนศีรษะ
วิธีการดูแล และป้องกัน
1. พักสายตา เป็นช่วง ๆ ขณะที่ดูโทรศัพท์มือถือ หรือมองจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ ทำให้เกิดอาการเมื่อยตา ตาแห้ง ช่วงพักต้องบริหารดวงตาด้วย ให้มองออกไปไกล ๆ อย่างไร้จุดหมาย มองวิวทิวทัศน์ มองต้นไม้สีเขียว ๆ
2. กดจุดรอบดวงตา จุดดั้งจมูก อยู่ใต้หัวคิ้ว 0.5 เซนติเมตร ใช้นิ้วชี้ทั้งสองข้างวางท่าจุดนั้นกดนวดจนรู้สึกเจ็บเสียว นาน 3-5 วินาที จุดที่หัวคิ้วทั้งสอง จุดกึ่งกลางคิ้ว จุดหางคิ้ว จุดขมับ จุดใต้ตาตรงกลางขอบตาล่าง แล้วหลับตาสักพักเพื่อผ่อนคลาย
3. ยื่นแขนไปข้างหน้า กำมือเหลือเฉพาะนิ้วชี้ สายตามองตามนิ้วชี้ที่ค่อย ๆ เคลื่อนเข้ามาถึงจมูก วาดนิ้วชี้เป็นวงกลมตามเข็มนาฬิกาและทวนเข็มนาฬิกา ใช้สายตามอง 3-5 รอบ จากนั้นปล่อยสายตาตามสบาย หรือหลับตาสักพักให้ผ่อนคลาย
4.ควรเปิดไฟสว่างขณะอ่านหนังสือในที่มืด
5.ใช้แว่นกรองแสงขณะทำงานกับจอคอมพิวเตอร์
6.รักษาระยะห่างจากหน้าจอกับสายตาในระดับพอดี
7.กะพริบตาบ่อย ๆ หรือหยดน้ำตาเทียม เพื่อช่วยลดอาการตาแห้ง
สำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างเสื่อมอยู่แล้ว รวมทั้งสายตา การจ้องมือถือ การดูโทรทัศน์ จึงไม่ควรต่อเนื่องเกิน 1-2 ชั่วโมง ยาที่ใช้จึงต้องบำรุงทั้งระบบเลือดและระบบลม
แนวคิดตามศาสตร์ธรรมชาติบำบัด และการแพทย์แผนไทย
นวดเส้น อิทา ปิงคลา ตามแนวที่ไปออกดวงตาทั้ง 2 ข้าง เน้นคุณภาพของการนอนหลับ การไม่ทำงานหนักเกิน ใช้สมองมากเกินไปจนเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ไม่ดำรงอิริยาบถท่าใดท่าหนึ่งนานเกินควร
สมุนไพรที่ใช้รักษา
ให้เน้นอาหารมีสีสันสดใส สีม่วง น้ำเงิน ส้ม เขียว แดง อาทิเช่น ดอกอัญชันม่วง ดอกดาวเรือง ผักใบเขียว ผักบุ้ง ธัญพืช ถั่ว งา มัลเบอร์รี บลูเบอร์รี
พท.โสมนัส สุทรวิภาต
แพทย์แผนไทย