ลักษณะอาการของเหนื่อยล้าทางจิตประสาท
ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าทางจิตประสาท เมื่อเกิดขึ้นจะมีความรู้สึกร่างกายหนักล้า อ่อนแรง และอิดโรย การเคลื่อนไหว และการตอบสนองช้าลง ความกระตือรือร้นและสมาธิลดลง ขาดความกระฉับกระเฉง เกิดความรู้สึกต่าง ๆ เช่น รู้สึกโง่เขลา (Dullness) ความเบื่อหน่าย การหมดแรง ฯลฯ ซึ่งอาการดังกล่าวเกิดจากภาวะความอ่อนเพลีย ความเหนื่อยล้า (Fatigue or Loss Energy) แต่หากปล่อยให้เกิดจนเป็นความเหนื่อยล้าเรื้อรัง จะลุกลามกลายเป็นปัญหาในการใช้ชีวิต เช่น ปัญหาการนอน เครียด เกิดปัญหาสุขภาวะ เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงตามมา
การทำงาน หน้าที่หรือประสิทธิภาพการทำสิ่งต่าง ๆ ลดลง มีการเสื่อมถอยของการทำหน้าที่ด้านจิตใจ เช่น ความสามารถในการรู้ผิดชอบชั่วดี การตัดสินใจ การใช้เหตุผลหรือตรรกะที่ลดลง รวมถึงสภาพอารมณ์ที่เปลี่ยนไปในทางลบ เป็นระบบสัญญาณทางลบของร่างกายที่เตือนให้หยุดและพักผ่อน เพื่อป้องกันไม่ให้สมองทำงานหนักเกินกำลัง จนอ่อนล้า
หัวใจ นอกจากทำหน้าที่สูบฉีดเลือดแล้ว ยังกำกับดูแลจิตประสาทด้วย การใช้สายตาและสมองเป็นการใช้งานของจิตประสาท เมื่อใช้งานมากเกินไป ความเหนื่อยล้าของสมองและสายตาทำให้เกิดความเหนื่อยล้าทางจิตประสาท กระทบไปยังการทำงานของหัวใจ รบกวนส่วนที่จุดประสาท ทำให้นอนไม่หลับ
การเหนื่อยล้าทางจิตประสาทยังส่งผลให้ระบบการย่อยทำงานไม่ดี เกิดอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย ลมในท้องมาก เรอหรือผายลมบ่อย อาการเหล่านี้เหมือนไม่หนักหนา แต่สร้างความรำคาญใจ ความเกินทางอารมณ์ แสดงออกสามอย่าง คือ มาเร็ว รุนแรง และยาวนาน เกินกว่าร่างกายจะทนไหว การทนไหวในที่นี้ยังขึ้นกับความเข้มแข็ง หรืออ่อนแอด้านจิตใจของแต่ละคนด้วย
สาเหตุของเหนื่อยล้าทางจิตประสาท
เป็นปรากฏการณ์ปกติที่เกิดขึ้นได้กับบุคคล โดยความเหนื่อยล้าทางจิตใจ จะเพิ่มขึ้นอย่างทันใดเมื่อมีการทำงานที่ต้องใช้ความสามารถทางจิตใจในช่วงเวลาหนึ่ง และมักเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ แรงจูงใจ และการรู้คิด โดยนับเป็นสภาวะหลากมิติ (Multi-dimensional State) เช่น การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน ความเครียด วิถีชีวิตที่ไม่ดีต่อสุขภาพ (Unhealthy Lifestyle) และลักษณะการนอนที่ไม่ดีในระยะยาว จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตและประสิทธิภาพในการเรียน ซึ่งกระทบอย่างหนักในชีวิตทุกวันและการพัฒนาส่วนบุคคล
วิธีการดูแล และป้องกัน
วิธีกระตุ้นสารแห่งความสุข
– ควรมีเป้าหมายในชีวิต เพื่อกระตุ้นการหลั่ง Dopamine
– เลี้ยงสัตว์ที่ชอบ เพื่อกระตุ้นการหลั่ง Oxytocin
– โอบกอดคนที่รัก เช่น พ่อ แม่ คู่รัก เพื่อกระตุ้นการหลั่ง Serotonin
– ผ่อนคลายความเครียด ทำในสิ่งที่ชอบ หางานอดิเรกทำ ปลูกต้นไม้ เพื่อกระตุ้นการหลั่ง Oxytocin
อารมณ์ที่มีผลต่อความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าทางจิตประสาท
โกรธ เป็นอารมณ์ที่มากระทบตับโดยตรง ถ้าโกรธจัดเกินไป เกิดอาการตาแดง หน้าแดง อาเจียน เวียนหัว ลมร้อนดันขึ้นผลความดันสูงทำให้เส้นเลือดแตก เป็นอัมพฤกษ์ได้
ดีใจ เป็นอารมณ์กระทบธาตุดินของหัวใจ ดีใจมากเกินไปหรือดีใจอย่างกะทันหัน อาจทำให้ช็อก เสียชีวิตได้หรือเป็นบ้าได้
ครุ่นคิดกังวล เป็นอารมณ์ที่มากระทบธาตุดินคือม้าม ถ้าเป็นคนช่างวิตกกังวล คิดมาก คิดไม่ตก วิตกจริตมากเกินไปต่อเนื่อง ส่งผลให้ท้องอืด อาหารไม่ย่อย กินไม่ได้ กระทบถึงจิตประสาททำให้นอนไม่หลับด้วย
เศร้าโศกเสียใจ ไปกระทบอวัยวะการทำงานของปอด ถ้าฉับพลัน รุนแรง หรือยาวนานเกินไป ที่เรียกกันว่าตรอมใจ ทำให้มีอาการอ่อนเปลี้ยเพลียแรง กินข้าวไม่ได้ นอนไม่หลับ เมื่อเกิดขึ้นจะทำให้ระบบขับถ่ายแปรปรวน
หวาดกลัว เมื่อเกิดความกลัวมาก ๆ ทำให้ไตทำงานผิดปกติ เช่นกลัวจะมีถูกฆ่า จะกลัวจนควบคุมอุจจาระ ปัสสาวะไม่อยู่
ตกใจง่าย จะไปกระทบกับอวัยวะถุงน้ำดีอ่อนแอ
แนวคิดตามศาสตร์ธรรมชาติบำบัด และการแพทย์แผนไทย
ดูแลระบบลม 2 กอง คือ ลมกองละเอียด ที่มีอาการอ่อนเพลีย วิงเวียน เหนื่อยล้า โดยไม่มีสาเหตุของโรคร้ายแรง ใช้ยาหอมแก้กองละเอียด เช่น ยาหอมเทพจิตร ยาหอมจิตตรารมณ์ และลมกองหยาบ มีอาการลมในท้องมาก ส่งผลให้อาหารไม่ย่อย ท้องอืด เฟ้อ เรอเหม็นเปรี้ยว ลมขึ้นเบื้องสูง ด้วยยาแก้ลม ยาขับลม เพื่อแก้ลมกองหยาบ
สมุนไพรที่ใช้รักษา
เกสรทั้ง 5, น้ำต้มใบเตย, น้ำลอยดอกมะลิ, น้ำมะตูม, น้ำเก็กฮวย, ดอกแค, ขี้เหล็ก, สะเดา ใช้สมุนไพรรสขมน้อย ๆ และรสหอมเย็น
พท.โสมนัส สุทรวิภาต
แพทย์แผนไทย