รุ่นที่ 1
แรงบันดาลใจ
ที่เกิดขึ้นจากการสูญเสียสิ่งที่รัก
เมื่อย้อนกลับไป เมื่อ 100 กว่าปีที่ผ่านมา การแพทย์และการสาธารณสุขยังไม่เจริญ ผู้คนก็ต้องอาศัยหมอพื้นบ้าน เป็นที่พึ่งในยามเจ็บไข้ได้ป่วย ทั้งหมอสมุนไพร หมอตำแย หมอนวด หมองู หมอพ่นเป่า หมอกระดูก
เรื่องราวจากคำบอกเล่าของ “หมอมิ่ง แนบเนียน” (คุณตา) เล่าว่า เมื่อสมัยช่วงปีจอ พ.ศ. 2453 ที่บ้านวัดถั่ว ลุ่มน้ำท่าจีน หมอมิ่ง แนบเนียน ตอนอายุ 10 ขวบ กำลังเฝ้ารอดูแม่ที่กำลังจะคลอดน้องตั้งแต่เช้า ซึ่งเป็นเวลาที่รอคอยหมอตำแยมาช่วยทำคลอด และให้คนไปตามหมอตำแยก็ไม่เจอ รอจนถึงเวลาเพล (11:00 น.) ก็ไม่มีวี่แววหมอตำแยจะมา ได้ยินแต่เสียงร้องของแม่ เจ็บปวดทรมาน จนกระทั่งเวลาบ่ายแก่ ๆ หมอตำแยจึงมาถึง ก็ขึ้นไปช่วยทำคลอดบนเรือน แต่เด็กขวางท้อง ไม่สามารถกลับหัวเด็กให้คลอดออกมาได้ แม่ก็ค่อย ๆ อ่อนกำลังลง และเสียชีวิตในช่วงเย็น นับว่าเป็นการสูญเสียมากที่สุดในชีวิต ที่แม่และน้องต้องมาตายต่อหน้า แล้วช่วยอะไรไม่ได้
ด้วยความเสียใจในครั้งนั้น จึงเป็นแรงผลักดันให้ เด็กชายมิ่ง อยากเป็นหมอมาช่วยคน จึงไปร่ำเรียนวิชาการแพทย์ สามารถเรียนจบหลักสูตรการแพทย์แผนไทย จนได้รับใบประกอบโรคศิลปะ สาขาการบำบัดโรคทางยา จากสภาการแพทย์ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2475 มีความรู้ความชำนาญในเรื่องของโรคสตรีเป็นที่สุด จนมีทักษะสามารถใช้มือกลับหัวเด็กที่ขวางครรภ์ได้ รวมไปถึงความรู้ทางการแพทย์ทั่วไปที่สามารถช่วยรักษาชาวบ้านผู้ที่เจ็บป่วย ด้วยยาสมุนไพร โดยไม่เรียกร้องเงินทอง จนมีชื่อเสียงโด่งดัง ด้วยตำรับยาต่าง ๆ มากมาย ซึ่งเป็นมรดกด้านภูมิปัญญาสมุนไพรและศาสตร์การแพทย์แผนไทย ที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
เล่าโดย คุณหมออนุสิฐษ์ แฉล้ม (คุณหมอติ)
อ่านตอนต่อไป รุ่นที่ 2 สืบทอดวิชาจากพ่อ เพื่อรักษาและส่งต่อภูมิปัญญาให้หลาน