สวัสดีค่ะ เสาร์นี้ CHALAEM : แฉล้ม จะพาสาวๆไปเดินชมตลาดเก่าอีกที่ของจังหวัดสุพรรณบุรี นั่นก็คือ ตลาดเก้าห้อง 100 ปี เป็นตลาดขึ้นชื่อของอำเภอบางปลาม้า เป็นเรือนไม้เก่า ตั้งอยู่ใกล้กับริมแม่น้ำท่าจีน เป็นตลาดริมน้ำที่เก่าแก่อายุนับ 100 ปี และมีของขาย ทั้งของใช้และของกินอร่อยๆมากมายเลยค่ะ
ตลาดเก่าริมแม่น้ำ รูปแบบที่กำลังสูญหาย หรือคงอยู่ เรือนไม้ปลูกติดต่อกัน เรียงเป็นแถวยาว เรือนที่ในอดีตใช้เป็นที่ค้าขาย แลกเปลี่ยนสินค้า สถานที่ค้าขายของชุมชนไทย-จีน วันเวลาผ่านกว่า 100 ปี หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไป เรือนไม้เริ่มผุพัง ชีวิตต้องการความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น วิถีชีวิตในบ้านไม้หลังเก่า เริ่มเลือนหายไป…
วันนี้ …รูปแบบและวิถีชีวิตเหล่านั้น มีโอกาสที่จะย้อนกลับมา จะด้วยกระแส หรือความรู้สึกที่เรียกร้องวันเวลาเก่าๆก็ตามที แต่สิ่งหนึ่งที่เราจะได้รับ…. คือบันทึกของประวัติศาสตร์ เป็นบันทึกที่มีชีวิต เต็มไปด้วยเรื่องราว สีสัน และฉากหลังที่สวยงาม และจะเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ ที่เราทุกคนช่วยกันสร้างขึ้น….
ตลาดเก้าห้องดำ
เป็นตลาดห้องแถวเก่าแก่ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน อายุประมาณ 100 ปี สร้างประมาณต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันตั้งอยู่ ในเขตเทศบาลตำบลบางปลาม้า หมู่ที่ 2 ตำบลบางปลาม้า อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี จากเอกสารที่มีผู้เขียนเกี่ยวกับประวัติตลาดเก้าห้อง และจากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุ คำว่า ”ตลาดเก้าห้อง” น่าจะนำมาจากชื่อของบ้านเก้าห้อง ซึ่งเป็นบ้านโบราณมีประวัติสืบทอดมายาวนาน ตลาดเก้าห้องเล่ากันว่าสร้างขึ้นโดยชาวจีนคนหนึ่งชื่อ “นายฮง“ อพยพมาจากกรุงเทพฯ มาทำมา ค้าขายอยู่บริเวณละแวกบ้านเก้าห้อง กิจการค้ารุ่งเรืองดี ในราว พ.ศ. 2424 ได้แต่งงานกับ “นางแพ” ซึ่งเป็นหลานสาวของขุนกำแหงฤทธิ์แห่งบ้านเก้าห้อง และได้ประกอบอาชีพค้าขายที่แพซึ่งสร้างขึ้นไว้ 1 หลัง จอดอยู่ริมน้ำหน้าบ้านเก้าห้อง ซึ่งในสมัยก่อนเป็นย่านค้าขายที่มีเรือนแพขายของสองฝั่งแม่น้ำ นายฮง หรือที่ชาวบ้านมักนิยมเรียกว่า “เจ๊ก-รอด” ทำการค้าขายสินค้าทุกประเภทโดยเฉพาะเครื่องบวช เครื่องมืออุปกรณ์ทำนาและเครื่องอุปโภคบริโภคทั้งหลายจนร่ำรวยและรู้จักกันในนามต่อมาว่า “นายบุญรอด เหลียงพานิช”
ประวัติอีกด้านหนึ่งกล่าวว่า
ครั้งสมัยพม่ายกทัพเข้าไปรุกรานชาวเวียงจันทร์ ชาวลาวจากเวียงจันทร์ได้พาครอบครับหนีพม่า แตกกระเจิงไปตามที่ต่างๆ บางพวกก็หนีเข้ามาจนถึงเมืองสุพรรณ และแยกย้ายไปอยู่เป็นกลุ่มๆ ตามที่ต่างๆ มีพวกหนึ่งนำโดย ขุนกำแหงฤทธิ์ ที่มีความสามารถ เป็นที่นับถือของชาวลาว อพยพมา มาทางบางปลาม้า เห็นทำเลดี มีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน จึงช่วยกันหักร้างถางพง ทำไร่ทำนากลายเป็นกลุ่มใหญ่ขึ้น ขุนกำแหงฤทธิ์ กับชาวลาวอพยพ ได้สร้างบ้านเรือนลักษณะติดกันจำนวน สี่ห้อง แต่ไม่นานก็ถูกไฟไหม้หมด ขุนกำแหงให้โหรมาดู และทำนายว่ามีทางแก้ให้ดีได้ โดยจะต้องปลูกห้องให้มีจำนวน เก้าห้อง และต้องสร้าง ศาลเจ้าปู่บ้านย่าเมือง ไว้สักการะบูชา ขุนกำแหงได้สร้างบ้านตามคำโหรและสร้างศาลไว้บูชา จากนั้นเป็นต้นมาผู้คนที่แห่งนี้ก็อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขสืบต่อกันมานับร้อยปี
หอดูโจร
ในตลาดเก้าห้อง เป็นหอที่ก่ออิฐถือปูนกว้าง 3×3 เมตร สูงราว 4 ตึก 4 ชั้น สร้างเมื่อ พ.ศ. 2477 ชั้นบนเป็นดาดฟ้า แต่ละชั้นฝาผนังเจาะรูโตขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 นิ้ว เมื่อขึ้นไปบนยอดสุดจะมองเห็นทัศนียภาพ ทั้งทางบกและทางน้ำของตลาดเก้าห้องได้ทั้งหมด เหตุที่สร้างป้อมขึ้นมาเพราะในระยะนั้นพวกโจรหรือที่เรียกว่า “เสือ”
หลายคนออกปล้นฆ่าตามริมน้ำท่าจีนเสมอ จึงได้สร้างป้อมไว้สังเกตการณ์และมีการเตรียมการป้องกันการปล้นสะดมของเสือทั้งหลายด้วย ถ้าเสือมาคนจะขึ้นไปประจำอยู่ในป้อมตามชั้นต่างๆเอาปืนส่องยิงตามรูทั้ง 4 ด้านของป้อม เพื่อต่อสู้กับเสือที่มาปล้น
หลายคนคงจะรับทราบอยู่แล้วว่าชื่อ “บ้านเก้าห้อง” เป็นชื่อของบ้านเรือนหลังหนึ่งซึ่งในปัจจุบันตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายหรือฝั่งตะวันออกของแม่น้ำท่าจีนติดกับวัดลานคาทางทิศใต้ คือบ้านเลขที่ ๔ หมู่ ๓ ตำบลโคกคราม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นบ้านที่ขุนกำแหง (ชื่อเดิมคือ “วันดี”) ผู้นำชุมชนชาวพวนกลุ่มหนึ่งที่อพยพมาจากเมืองเชียงขวาง เมืองเวียงจันทน์ อาณาจักรล้านช้าง หรืออาณาจักรลาวในอดีต (ปัจจุบันชื่อ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๗๐ เป็นผู้สร้างขึ้นตามคำทำนายของโหรว่าต้องปลูกบ้านเป็น ๙ ห้องแทนการปลูกบ้านเป็น ๓ ห้อง หรือ ๔ ห้องตามแบบเดิมซึ่งได้เกิดเพลิงไหม้เผาผลาญจนหมดสิ้นถึงสามครั้ง ซึ่งขุนกำแหงมีบทบาทสำคัญในการปกครองชุมชนชาวพวนในท้องถิ่นที่เป็นประโยชน์ต่อทางราชการของประเทศสยามในสมัยนั้น อย่างไรก็ตาม คาดว่ายังคงมีอีกหลายท่านที่อาจต้องการความชัดเจนเพิ่มเติมว่า ลักษณะของบ้านเป็นอย่างไรหรือจึงเรียกว่า “บ้านเก้าห้อง” (สำเนียงภาษาพวนออกเสียงว่า “บ๊านเก๊าฮ้อง”)
ลักษณะของบ้านที่เรียกว่า “บ้านเก้าห้อง”
บ้านเก้าห้องของขุนกำแหงในส่วนที่เป็นบริเวณเรือนหลักดั้งเดิมซึ่งยังคงลักษณะเดิมอยู่ในปัจจุบัน เป็นบ้านแบบเรือนไทยไม้สักหลังคาทรงจั่วปั้นหยา ใต้ถุนสูง ขนาดกว้างรวม ๗.๗๕ เมตร (ส่วนกว้างนี้แบ่งเป็น ๒ ระดับๆ แรกกว้าง ๕ เมตร เป็นส่วนภายในของเรือนสำหรับการพักอาศัย และระดับที่สองเป็นส่วนระเบียงของบ้านต่ำกว่าระดับแรกประมาณ ๓๐ เซนติเมตรกว้างประมาณ ๒.๗๕ เมตร) และยาว ๒๐.๕๐ เมตร โดยความยาวของบ้านขนานกับแม่น้ำท่าจีน และหันหน้าบ้านไปทางแม่น้ำ แนวความยาวของบ้านมีเสาบ้านเรียงอยู่ ๑๐ แถว ซึ่งแนวเสา ๒ แถวจะถือว่าเป็น ๑ ช่องเสาหรือ ๑ ห้อง (ห้องหนึ่งกว้างประมาณ ๒.๒๕ เมตร) ถ้ามีแนวเสา ๔ แถว จะเรียกว่า บ้านมี ๓ ช่องเสาหรือ ๓ ห้อง ดังนั้น บ้านที่มีแนวเสา ๑๐ แถว จึงเรียกว่าบ้านมี ๙ ช่องเสา หรือบ้าน ๙ ห้อง ดังนั้น บ้านเรือนไทยหลังที่ขุนกำแหงสร้างดังกล่าวมีเสา ๑๐ แถว จะมี ๙ ช่องเสา จึงเรียกชื่อว่า “บ้านเก้าห้อง” (ซึ่งไม่ปรากฏชัดเจนว่ามีการปลูกสร้างบ้านเรือนที่มีความยาวลักษณะนี้ทั้งในอดีตและปัจจุบันที่ใดบ้าง) ด้วยเหตุผลข้างต้นน่าจะช่วยสร้างความเข้าใจได้ว่าที่เรียกว่า ”บ้านเก้าห้อง” นั้นมิใช่เพราะภายในบ้านมีการแบ่งเป็นห้องๆถึง ๙ ห้องแต่ประการใด