วันเสาร์อีกแล้วจ้า เสาร์นี้ CHALAEM : แฉล้ม พาไประลึกถึง ราชินีลูกทุ่งระดับตำนาน เป็นนักร้องที่มีน้ำเสียงหวานออดอ้อน และจำเนื้อร้องได้แม่นยำทั้งๆที่ไม่รู้หนังสือซะด้วยซ้ำค่ะ วันนี้เธอได้จากไปแบบไม่มีวันกลับ แต่เธอก็ยังคงเป็นราชินีลูกทุ่งของแฟนเพลงตลอดกาล
หลายท่านคงรู้จัก พุ่มพวง ดวงจันทร์ ราชินีเพลงลูกทุ่ง ที่ฝากผลงานเพลงที่ไพเราะ และอยู่ในหัวใจของใครต่อใครมากมาย มาวันนี้ถึงแม้ พุ่มพวง จะจากแฟนเพลงไปแล้วหลายปี แต่เรื่องราว และความทรงจำก็มิได้จากไปตามร่างกายของพุ่มพวง สิ่งของต่างๆที่เกี่ยวข้องยังถูกเก็บรักษาไว้ ณ วัดทับกระดาน แห่งนี้ เพื่อให้ผู้ที่ยังรักและคิดถึงราชินีเพลงลูกทุ่งคนนี้ ได้แวะเวียนมาระลึกถึง
พุ่มพวง ดวงจันทร์ ราชินีเพลงลูกทุ่ง ผู้โด่งดัง ที่ชีวิตเต็มไปด้วยเรื่องราวที่แสนอัศจรรย์ อ่านหนังสือไม่ออก แต่มีพรสวรรค์ในการร้องเพลงแบบหาใครเทียบได้ยาก และบางมุมของชีวิตที่เต็มไปด้วยคราบน้ำตา
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ การจากไป ” พุ่มพวง ดวงจันทร์ ” ไม่เคยห่างหายไปจากดวงใจคนไทยทั้งชาติ เด็กรุ่นใหม่ยังคงนำเพลงอมตะของเธอมาขับร้องแข่งขันประชันเสียง สมแล้วกับตำแหน่ง “ราชินีลูกทุ่ง”
พุ่มพวง ดวงจันทร์ นักร้องเพลงลูกทุ่งชื่อดังที่ได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่เนื่องจากพุ่มพวงคุ้นเคยกับวัดนี้ตั้งแต่เด็ก จึงมีการเก็บรวบรวมเสื้อผ้าข้าวของเครื่องใช้ในการร้องเพลง รวมทั้งรูปถ่ายจากข่าวหนังสือพิมพ์ไว้ในโบสถ์ของวัดนี้ นอกจากนี้บริเวณศาลาท่าน้ำจะมีรูปวาดของพุ่มพวง ดวงจันทร์ ที่มีคนนำมาให้เพื่อแก้บน ด้านหน้าวัดมีร้านขายของสด แห้งต่างๆ เช่น น้ำพริก หน่อไม้ ผลไม้ต่างๆ ทุกปีจะมีการจัดงานครบรอบวันเสียชีวิตของนักร้องผู้นี้
ประวัติ พุ่มพวง ดวงจันทร์ (ผึ้ง)
เดิมครอบครัวเป็นชาวสุพรรณบุรี แต่ได้ย้ายไปทำมาหากินอยู่ที่ จ.ชัยนาท พุ่มพวง เกิดเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2504 ณ บ้านหนองนกเขา ต.ไพรนกยูง อ.หันคา จ.ชัยนาท มีชื่อจริงว่า “รำพึง จิตรหาญ” ต่อมาได้ย้ายกลับมาอยู่ที่ ตำบลบ่อสุพรรณ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรีตั้งแต่ยังเด็ก เป็นบุตรคนที่ 5 จากพี่น้องจำนวน 12 คนของนายสำราญ หอมศรี และ นางเล็ก จิตรหาญ ครอบครัวมีอาชีพรับจ้างทำไร่อ้อย
เจ้าตัวชื่นชอบการร้องเพลงลูกทุ่งตั้งแต่เด็กเดินสายประกวดร้องเพลงลูกทุ่งใช้ชื่อว่าน้ำผึ้ง ณ ไร่อ้อย และมาอยู่กับวงดนตรี ดวง อนุชา ตั้งแต่อายุประมาณ 10 ขวบ เมื่ออายุได้ 15 ปี บิดาและน้าชายของรำพึงฝากฝังให้เป็นบุตรบุญธรรมของ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ โดยใช้ชื่อว่า น้ำผึ้ง สกุณี ก่อนที่ไวพจน์ จะแต่งเพลงและอัดแผ่นเสียงชุดแรกให้ ชื่อเพลง แก้วรอพี่ และหันมาใช้ชื่อในการร้องเพลงว่า น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ เมื่อ พ.ศ. 2519
ต่อมา ลาออกจากวงไวพจน์มาพร้อมกับธีระพล แสนสุข ไปอยู่กับวงดนตรีศรเพชร ศรสุพรรณ เป็นทั้งนักร้องพร้อมกับเต้นหางเครื่องด้วย และย้ายมาอยู่กับขวัญชัย เพชรร้อยเอ็ด หลังจากอยู่กับ ศรเพชร ไม่นาน และได้บันทึกเสียงจากการแต่งของ ก้อง กาจกำแหง ร้องแก้ขวัญชัย เพลงนั้นคือ รักไม่อันตราย
เจ้าตัวใช้ชื่อในการร้องเพลงว่า พุ่มพวง ดวงจันทร์ จากการตั้งชื่อโดย มนต์ เมืองเหนือ และตั้งวงดนตรีเป็นของตนเอง โดยการสนับสนุนของคารม คมคาย นักจัดรายการวิทยุ แต่ไม่ประสบความสำเร็จก่อนจะย้ายมาสังกัดบริษัทเสกสรรเทป-แผ่นเสียง
ผลงานของพุ่มพวง ดวงจันทร์เริ่มประสบความสำเร็จในเวลาต่อมาหลังจากได้รับการสนับสนุนจากประจวบ จำปาทอง และปรีชา อัศวฤกษ์นันท์ ให้ตั้งวงร่วมกับ เสรี รุ่งสว่าง ในชื่อวง เสรี-พุ่มพวง จากจุดนี้ก็ได้รับความสำเร็จขึ้นพุ่มพวง มีชื่อเสียงสูงสุดในช่วงปี พ.ศ. 2515-2534 หลังจากออกจาก เสกสรรเทป-แผ่นเสียง มาอยู่ในสังกัดอโซน่าด้วยเพลงจากการแต่งของ ลพ บุรีรัตน์ ที่พลิกแนวให้หันมาร้องเพลงสนุกๆ และได้การตอบรับจากคนฟังเป็นอย่างมาก เพลงที่มีชื่อเสียง ได้แก่ สาวนาสั่งแฟน ซึ่งเป็นเพลงจุดประกาย ก่อนจะตามมาด้วยเพลง นัดพบหน้าอำเภอ, อื้อฮือหล่อจัง, ดาวเรืองดาโรย, คนดังลืมหลังควาย, นักร้องบ้านนอก, บทเรียนราคาเพลง, หม้ายขันหมาก และอื่นๆอีกมาก
พุ่มพวง ดวงจันทร์ ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ เสาอากาศทองคำพระราชทาน จากสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี จากเพลง “อกสาวเหนือสะอื้น” นอกจากนี้ ยังได้เป็นผู้ร้องเพลง “ส้มตำ” พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี
พุ่มพวงเข้าสู่วงการภาพยนตร์ และแสดงหนังเรื่องแรก สงครามเพลง สร้างโดย ฉลอง ภักดีวิจิตร และอีกหลายเรื่อง ในช่วงที่แสดงภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักนักเพลง ได้พบกับ ไกรสร แสงอนันต์ ได้พาพุ่มพวงพามาเข้าสังกัด อ.ไพจิตร ศุภวารี และมีผลงานอีกหลายชุด เช่น ตั๊กแตนผูกโบว์ โลกของผึ้ง หลังจากนั้นมาอยู่กับห้างท็อปไลน์ ก่อนจะหายหน้าไปจากวงการ เนื่องจากป่วยด้วยโรค เอสแอลอี พุ่มพวง มีบุตรกับไกรสร 1 คน คือ “เพชร สรภพ ลีละเมฆินทร์”
พุ่มพวง ดวงจันทร์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2535 พิธีพระราชทานเพลิงศพ จัดขึ้นที่วัดทับกระดาน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. พ.ศ. 2535 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธี
นอกจากนี้ยังมีการสร้างหุ่นพุ่มพวง ตั้งอยู่ในศาลาริมสระน้ำ วัดทับกระดาน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยทางวัดจะมีการจัดงานรำลึกถึงพุ่มพวง ช่วงประมาณวันที่ 13 มิถุนายน ของทุกปี ซึ่งเป็นวันครบรอบการเสียชีวิตของเธอ
สอบถามข้อมูล โทร 035-530113
รถโดยสารสาธารณะที่ผ่านทางเข้าวัด
สถานีขนส่งสายใต้
มีรถธรรมดาและรถปรับอากาศชั้น 2
กรุงเทพ-นครปฐม-กำแพงแสน-อู่ทอง-สุพรรณบุรี
กรุงเทพ-นครปฐม-กำแพงแสน-อู่ทอง-ด่านช้าง
รายละเอียดติดต่อโทร. 02-894 6122, 035-522373
รถตู้โดยสาร
บ้านไร่ – ด่านช้าง – นครปฐม – กรุงเทพ (สายใต้ใหม่) โทร. 080-0222791
ตลาดเขต – วัดใผ่โรงวัว – กรุงเทพ โทร. 081-9206555
บางลี่ – นครปฐม – กรุงเทพ โทร. 089-9163905
ค่าพิกัด GPS 14.142377, 99.914144
ขอขอบคุณที่มา http://www.suphan.biz/wadtubkradan.htm