เสาร์นี้ CHALAEM : แฉล้ม จะพาสาวๆ หนีความวุ่นวายของสังคมเมือง ไปเที่ยวเชิงอนุรักษ์ พร้อมทั้งเรียนรู้หลักเศรษฐกิจพอเพียงและการดำเนินชีวิต ชมวิถีชีวิตการทำนาของชาวนาไทยในอดีตกันค่ะ
ณ สถานที่นี้ นอกจากรูปแบบที่แสดงถึงความเป็นบ้านเรือนไทยที่งดงามแล้ว ที่นี้ยังเป็นที่ที่รวบรวมเรื่องราว และองค์ความรู้ในวิถีของเกษตรกรที่ทรงคุณค่า เพียงก้าวแรกที่ได้เห็น ทำให้หวนคิดถึงภาพอดีต ภาพวิถีแห่งท้องทุ่ง ยุ้งฉาง ไอ้ทุยควายไทย และเครื่องมือในการดำรงชีวิติของผู้คนในถิ่นนี้ แค่อยากจะบอกว่า ถ้ามาสุพรรณ อย่าพลาดเข้ามาแวะเยี่ยมชมสถานที่ที่เป็น จิตวิญญาณ ของชาวนาไทย … แห่งนี้
จุดเริ่มต้น และที่มาก่อนจะเป็น ศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย
จากจีนแผ่นดินใหญ่ บิดาและมารดาของ คุณพิชัย เจริญธรรมรักษา (เฮียใช้ ) หนีความแห้งแล้งเข้ามาตั้งรกรากที่ตำบลสวนแตง และย้ายมาอยู่ที่ อู่ยาในเวลาต่อมา มารดาประกอบอาชีพ หาบของแลกข้าวเปลือก ขายข้าวแกง ร้านกาแฟ และร้านขายของชำ ตามลำดับ เมื่อเฮียใช้เติบโตขึ้น ได้เข้ามาช่วยครอบครัวในการรับซื้อข้าวเปลือก ในปี พ.ศ. 2540 ครอบครัวได้ตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพ จากรับซื้อข้าวเปลือกมาเป็นการรวบรวมเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อการค้าโดยมีลูกๆคอยช่วยดูแล ภายใต้เครื่องหมายการค้า “เฮียใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว”
ผู้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้วิถีชิวิตและจิตวิญาณชาวนาไทย
นายนิทัศน์ เจริญธรรมรักษา บุตรชาย ของเฮียใช้ หลังจากจบมัธยมศึกษาตอนปลายได้ออกมาช่วยบิดาประกอบอาชีพรับซื้อข้าวเปลือกในปี พ.ศ.2534 ต่อมาได้ค้นพบว่าตัวเองไม่เหมาะสมกับอาชีพนี้จึงได้ตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพ จากซื้อข้าวเปลือกมาเป็นการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ในปี พ.ศ. 2540 โดยเริ่มทำจากจุดเล็กๆ เรียนรู้ลองผิดลองถูกค้นหาเกษตรกรที่มีความขยันซื่อสัตย์ พัฒนาระบบเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อที่จะนำมาซึ่งเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีความบริสุทธิ์สูง ได้มีความคิดริเริ่มก่อตั้งศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทยขึ้นเพื่อเป็นแหล่งข้อมูล สำหรับผู้ที่มีความสนใจศึกษาหาความรู้เรื่องข้าว และวิถีชีวิตชาวนาไทยในอดีต เพื่อเป็นการตอบแทนชาวนาผู้มีพระคุณ และแผ่นดินเกิด
สถานที่น่าสนใจภายในศูนย์เรียนรู้วิถีชิวิตและจิตวิญาณชาวนาไทย
เรือนศูนย์รวมดวงใจไทยทั้งชาติ เรือนแห่งคุณค่าจากความตั้งใจในการแสดงความจงรักภักดีต่อพ่อหลวงของแผ่นดิน เรือนหลังนี้ได้สร้างสรรค์รูปแบบที่มีความโดดเด่นงดงามเป็นพิเศษ ภายในมีการจัดแสดงพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครั้งเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ พระบรมฉายาลักษณ์ในพระราชกรณียกิจต่างๆ จัดแสดงพระบรมรูป และพระบรมสาทิสลักษณ์ราชวงศ์จักรี ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 9 และนอกจากนั้น ยังมีรูปบุคคลสำคัญๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการพัฒนาวงการข้าวไทย การสร้างศูนย์การเรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย ทั้งข้าราชการและประชาชนซึ่งเป็นบุคคลสำคัญยิ่งเรือนหลังนี้ คือเรือนแห่งคุณค่าทางจิตใจ
แปลงนาสาธิต การสาธิตชนิดพันธุ์ข้าวนาปรังทุกชนิดที่นิยมปลูกในปัจจุบัน สาธิตการอนุรักษ์การพัฒนาพันธุ์ข้าว เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้เยี่ยมชม และชาวนาได้มีความรู้ในการเลือกพันธุ์ข้าวได้อย่างเหมาะสม โดยแปลงนาสาธิตนี้จะทำการปักดำทุกวันที่ 1 ของเดือน ด้วยกล้าเพียงต้นเดียว ต่อ 1 กอ เพื่อให้เห็นความสามารถในการแตกกอของต้นข้าวและให้ชาวนาได้ศึกษาในทุกระยะการเติบโตของข้าว
เรือนวิถีชีวิตชาวนาไทยในอดีต การก่อสร้างเรือนไทยด้วยความประณีตวิจิตรบรรจง การออกแบบที่คงเอกลักษณ์ความเป็นไทย ด้วยรูปทรงประกอบด้วยเรือนไทย 3 หลัง คือ เรือนไทยหลังใหญ่ เรือนลูกซ้าย เรือนลูกขวา และครัวไฟ อันเป็นสถานที่ประกอบอาหารในอดีต เรือนวิถีชีวิตชาวนาไทยในอดีต เป็นเรือนไทยยกพื้นสูง ใต้ถุนเป็นสถานที่จัดแสดงอุปกรณ์เครื่องใช้ในอดีต เช่น อุปกรณ์หีบอ้อย ซึ่งรวบรวมไว้หลายแบบ แสดงถึงภูมิปัญญาไทยในการออกแบบ
เรือนพระแม่โพสพ องค์พระแม่โพสพทำมาจากไม้สักผ่านฝีมือการแกะสลักอย่างประณีตงดงาม เป็นองค์พระแม่โพสพประคองรวงข้าวอันเป็นการสื่อความหมายถึงการทะนุถนอมประดุจ แม่ประคองลูกอย่างอบอุ่น ภายในเรือนยังมีรูปหล่อพระแม่โพสพในยุคต่างๆตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระแม่โพสพ ที่หล่อในปี 2500 โดยได้จัดพิธีพุทธาภิเษกที่ท้องสนามหลวง โดยเรียกองค์พระแม่โพสพในยุคนี้ว่า “รุ่น 25 ศตวรรษ” จัดแสดงพระแม่โพสพและพิธีกรรมต่างๆ ครั้งในอดีตในช่วงการทำนา เพื่อให้ชาวนาและ คนรุ่นหลังเข้าใจในวัฒนธรรมที่ได้สืบต่อกันมา และอนุรักษ์มิให้สูญหา
ยุ้งเก็บข้าวที่จำลองแบบจากอดีตอย่างครบถ้วน นอกจากนี้ ได้มีการจัดแสดงอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ เช่น เครื่องมือในการทำนา เครื่องมือในการดักจับปลา และเครื่องมือ ในการทำงานไม้ รวมทั้งคอกควายซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญอีก ส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวนาไทยแต่ดั้งเดิม
เรือนหนังสือพระราชกรณียกิจและเรือนหนังสือข้าว ก่อสร้างเป็นเรือนไทยทรงปั้นหยา จำลองรูปแบบให้เหมือนโรงเรียนในสมัยอดีต ภายในเรือนเก็บรวบรวมหนังสือพระราชกรณียกิจตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หนังสือข้าว และองค์ความรู้ต่างๆ ที่สามารถค้นคว้าได้จากแหล่งเรียนรู้แห่งนี้
หอเตือนภัยชาวนา ก่อสร้างเป็นหอคอยสูง 3 ชั้น ความสูง 14.5 เมตร ก่อสร้างด้วยไม้เนื้อแข็ง ออกแบบด้วยความประณีตเป็นเอกลักษณ์ มีความมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักผู้เข้าชมจำนวนมากได้อย่างปลอดภัย และยังเป็นจุดชมทัศนียภาพที่สวยงามจุดหนึ่ง ผู้เข้าชม สามารถมองทัศนียภาพรอบๆได้อย่างงดงาม
ร้านโชห่วย หรือร้านขายของในอดีตเป็นการจำลองรูปแบบของร้านค้าในอดีตซึ่งได้เก็บรวบรวมส่วนประกอบต่างๆของร้านค้าในอดีต ไม่ว่าจะเป็นชั้นวางสินค้า โต๊ะและ เก้าอี้ รวมทั้งสินค้าที่เคยจำหน่าย ในครั้งอดีตซึ่งใช้ในชีวิตประจำวัน เช่นลอตเตอรี่เก่าสมัยก่อน
ศูนย์จำหน่ายอาหารและของฝาก นอกจากจะเดินทางมาท่องเที่ยวเชิงศึกษาเรื่องข้าว และวิถีชีวิตชาวนาไทยในอดีตแล้ว ยังสามารถเลือกซื้อของฝากติดไม้ติดมือ กลับบ้านกันได้อีกด้วย โดยสินค้าหลักเป็นข้าวเพื่อสุขภาพหลายชนิดพันธุ์ ที่เป็นที่นิยมของแต่ละภูมิภาค เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวทับทิมชุมแพ ข้าวเหลืองอ่อน ข้าวเหนียวลืมผัวและข้าวนาปรังที่มีลักษณะอ่อนนุ่ม ในรูปแบบของข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ และข้าวขาว บรรจุอยู่ในแพ็คสุญญากาศเพื่อสะดวกในการเก็บรักษาได้นานโดยไม่เสื่อมสภาพ นอกจากนั้นยังมีผักต่างๆที่ปลูกในโรงเรือนปลอดสารเคมี เสื้อที่ระลึกของศูนย์เรียนรู้ฯ
ค่าพิกัด GPS 14.495350, 100.058935
150/ 2, Mu 8 Rd, Ban Pho, Mueang Suphan Buri District,
Suphan Buri 72000
150/2 หมู่ 8 ต.บ้านโพธิ์ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี 72000
โทร : 092-6261515
FAX : 035-446954
เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00 – 18.00 น.
ผู้ที่สนใจเยี่ยมชมทั่วไป ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
ขอขอบคุณที่มา http://www.suphan.biz/herechai.htm