รุ่นที่ 3
สืบทอด วิจัยและพัฒนา
เพื่อนำภูมิปัญญาจากศาสตร์ธรรมชาติมาช่วยคน
ในปี 2547 เมื่อสิ้นหมอจันทร์แล้ว “หมอติ” (อนุสิฐษ์ แฉล้ม) ทายาทรุ่นหลานได้เข้ามาดำเนินการต่อ
ขอย้อนกลับไปเมื่อสมัย หมอติ ยังเป็นเด็ก ได้เติบโตมาในครอบครัวหมอยาไทย ได้สัมผัสการเก็บยา การทำยา ได้เห็นผู้ป่วยที่ตาหมอมิ่งช่วยเหลือรักษาจนหาย บ้านหมอมิ่ง ติดกับแม่น้ำท่าจีน ครั้งหนึ่งมี เรือโยงผ่านมา มีหญิงคลอดบุตรแล้วตกเลือด กำลังจะเสียชีวิตอยู่ในเรือ ตาหมอมิ่งก็ได้ช่วยชีวิตไว้ ด้วยการให้ยา ชื่อยาประจุโลหิต ผสมกับน้ำปูนใส มาฝนกับข่า ให้รับทานจนหาย เพียง 3 วัน ก็สามารถเดินทางต่อไปได้ พร้อมให้ยา ขับน้ำคาวปลา และยาบำรุงน้ำนมติดไปด้วย
ครั้งหนึ่งที่จำได้ไม่เคยลืม มีชาวบ้านพายเรือมาหาตาหมอมิ่ง ได้ยินเสียงคนร้องตะโกนโวยวายมาแต่ไกล พอเรือมาถึงท่าหน้าบ้านก็จับฉุด แล้วช่วยกันอุ้มขึ้นบ้าน เห็นผู้หญิงสาววัยรุ่นหน้าตาดี ร้องโวยวายดูเหมือนคนบ้า และคนเป็นแม่ก็บอกว่าลูกสาวเป็นบ้า เดินแก้ผ้าในหมู่บ้าน จำพ่อจำแม่ไม่ได้ เหมือนผีเข้าสิง ให้หมอช่วยรักษาหน่อย
ตาหมอมิ่งก็ถามอาการต่าง ๆ จนละเอียดแล้วก็บอกว่าไม่ใช่ผีเข้าหรอก “ เป็นโรคลมบาทจิต ” หรือบ้าเลือด เลือดกระทำพิษ เพราะโลหิตระดูร้าง แล้วก็จัดยารักษา โดยให้ยาประจุโลหิต ผสมกับเหล้าขาวให้กิน เพื่อรุระบายเลือดระดู และยาบำรุงธาตุเพื่อรักษาโรคลมบาทจิต เพียง 15 วันก็หาย
หลังจากนั้นพวกชาวบ้านกลุ่มนี้ก็มาหาตาอีก เอาของมาให้กินเยอะเลย ผู้หญิงที่เป็นบ้าก็หายเป็นปกติ และเข้ามากราบขอบคุณตาหมอมิ่งด้วย
หมอมิ่ง เป็นที่พึ่งของชาวบ้าน ทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดี หมอมิ่ง และชาวบ้านวัดถั่ว มีอาชีพหลัก คือทำนา วันหนึ่งมีคนมาตามหมอ บอกว่าควายถูกงูเห่ากัด ให้หมอไปช่วยหน่อย
ตาหมอมิ่ง ลงเรือนไปขุดรากเขยตาย และเก็บใบข่อยดำ เอามาตำกับครกไม้จนละเอียด ผสมกับน้ำซาวข้าว กรองเอาน้ำยาใส่หม้อใบใหญ่ และเอากากยาห่อใบตองไว้ แล้วจึงเดินทางไปช่วยควายในทุ่ง ที่กำลังดิ้น เกร็ง ชักตาค้าง ให้คนช่วยกันจับมัดควายให้แน่น แล้วใช้กะลาตักน้ำยา กรอกยาเข้าปากควายจนหมดหม้อ กากยาที่ห่อใบตองมา เอามาพอกที่ขาควาย ตรงที่งูกัด ใช้ผ้าพันไว้ สักพักก็ได้ยินเสียงในท้องควาย เสียงดังโครกๆ ทุกคนก็ช่วยกันแก้มัดควายออก ควายมันก็ลุกขึ้น เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีอาการเจ็บปวด หรือสำออยใด ๆ เลย
สิ่งที่เห็นในวันนั้น ถึงหมอติจะยังเป็นเด็ก แต่ความทรงจำนั้นไม่เคยลืมเลือน มันเป็นความรู้สึกที่มีความสุข ความภาคภูมิใจในตัวตาหมอมิ่ง มันไม่เกี่ยวกับเงินทองหรือของแลกเปลี่ยนใด ๆ ไม่มีเลย มันเป็นเรื่องของความเป็นความตาย ของคนและสัตว์ ที่ตาไม่เคยเลือกและไม่เคยปฏิเสธที่จะช่วย ตาคือต้นแบบที่ดี ตาคือ ซุปเปอร์ฮีโร่ เราอยากเป็นเหมือนตา
ทุกครั้งที่ตาไปเก็บสมุนไพร หมอติ ก็จะตามไปด้วย ไปเล่นบ้าง ไปช่วยบ้าง ตามประสาเด็ก ถูกตาแกล้งให้ชิมยางส้มเช้าบ้าง ให้อมบอระเพ็ดบ้าง… 555 หวานเจี๊ยบ… ตาเก็บสมุนไพรไป ปากก็พูดสอนไป ฟังบ้าง ไม่ฟังบ้าง แต่มันก็ค่อย ๆ ซึมซับมาแบบไม่รู้ตัว
ตอนเด็ก ๆ ชอบกินลูกอม จนฟันผุ เป็นแมงทั้งปากเลย ปวดมาก ตาก็ต้มต้นหนอนตายอยากให้อม แล้วก็ให้กลืนไป 2 อึก ก็หายปวดฟัน โดยไม่ต้องถอน แล้วก็ไม่ปวดอีกเลยพอโตขึ้นฟันน้ำนมก็หลุดออกไปเอง และก็อาการคันก้นจากพยาธิก็หายไปด้วย (ต้นหนอนตายอยาก มีชื่ออื่น คือ คิ้วนาง, ปีกผีเสื้อ)
ตามาเสียชีวิตตอนหมอติ อยู่ ม.3 โรงเรียนศรีประจันต์เมธีประมุข หมอติชอบเล่นดนตรีเหมือนพ่อ แต่ก็อยากเป็นหมอเหมือนตา พอจบ ม.6 ก็เลยไปเรียนเอกดนตรี ที่วิทยาลัยครูนครปฐม แต่ใจลึกอยากเป็นหมอ ก็เลยมาสอบเป็นหมออนามัย เรียนที่วิทยาลัยการการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดชลบุรี รุ่น 68 แล้วมาต่อปริญญาตรีที่ ม.เกษตรศาสตร์ และได้ทำงานในสถานีอนามัยตำบลดอนกำยาน อำเภอเมืองสุพรรณบุรี ได้สัมผัสกับชาวบ้าน ผู้ที่เจ็บป่วย จนเป็นประสบการณ์ที่สำคัญด้านสุขภาพ
หมออนามัย เรียนด้านการสาธารสุข หน้าที่หลักคือ ป้องกันไม่ให้คนเจ็บป่วย ทั้งฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ ให้เด็กเล็ก และเด็กนักเรียน รณรงค์สร้างส้วม 100% ป้องกันโรคติดต่อต่าง ๆ ที่จะมากับอุจจาระ จนได้ฉายาว่า “หมอส้วม” รณรงค์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ฉีดวัคซีนให้สุนัข จนถูกสุนัขกัด และก็ได้ฉายาใหม่ว่า “หมอหมา” ฟังดูขัด ๆ หูเหมือนกัน แต่ก็ตลกดี
หมออนามัยเก่งนะ รักษาคนได้ทุกเรื่อง (ยกเว้นโรคทรัพย์จาง ซึ่งหมอก็เป็น) ทำได้หมด ทั้งจ่ายยา ทำแผล ผ่าตัดเล็ก ทำคลอดก็ได้ ตอนสมัยเรียน หมอติชอบอยู่ห้องคลอด คนไข้ชมเลยว่าเย็บแผลฝีเย็บได้สวยมาก ๆ จนพี่ ๆ พยาบาลชมว่า “หมอติเกิดมาคู่กับมดลูกจริง ๆ ” (อืมม…จะดีใจดีไหมเนี่ย)
ตอนทำงาน หมอติ ติดโรคไวรัสตับบี จากการผ่าฝีคนไข้ ทรมานทั้งใจและกาย รู้ว่าต้องอายุสั้น เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับสูงมาก ใจก็เสีย ร่างกายก็อ่อนแอ ท้อแท้ไปหมด ไม่อยากทำงาน อาจารย์หมอที่รักษาก็บอกว่าต้องเป็นพาหะนำโรคตลอดชีวิต หมอติเบิกข้าราชการได้ อาจารย์หมอก็ให้ยาที่ดีที่สุด กินไปก็ไม่หาย ทนทรมานอยู่ 3 ปี
วันหนึ่งรู้สึกอารมณ์ดี เริ่มมีสติ ใจก็คิดว่าในเมื่อแผนปัจจุบันมันไม่มีทางออก ก็ต้องมาใช้แผนโบราณ มาใช้ยาสมุนไพรดูซิ กลับมาหาป้าหมอจันทร์ เล่าเหตุการณ์ให้ฟัง ป้าหมอจันทร์ หัวเราะจนน้ำหมากกระเด็น บอกว่า โรคหมิ่น ๆ “โรคดีซ่าน ดีซึม” เดี๋ยวป้าจัดยาให้ กระทุ้งเชื้อโรคออกให้หมด
เล่าโดย คุณหมออนุสิฐษ์ แฉล้ม (คุณหมอติ)
อ่านตอนต่อไป “ถ้าหายแล้วต้องมาช่วยป้านะ”