สภาวิจัยแห่งชาติหนุนนักวิจัยจากรั้วธรรมศาสตร์ สกัดสารสำคัญจากสมุนไพร 3 ชนิดคือ มะขามป้อม สมอไทยและสมอพิเภก หรือตรีผลา ทดลองฆ่าเซลล์มะเร็งที่เพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการวิจัยได้ผลดี แต่ยังไม่ได้ศึกษาในสัตว์และผู้ป่วยจริง เผยผลวิจัยปูทางผลิตเป็นยาสยบมะเร็งสำคัญที่คร่าชีวิตคนไทย ทั้งมะเร็งตับ ปอด ปากมดลูกและอื่นๆ
ผศ.ดร.สีหณัฐ ธนาภรณ์ สาขาเภสัชวิทยา สถานวิทยาศาสตร์ พรีคลินิก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากการศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบและระงับอาการปวดของสมุนไพรไทย 5 ชนิด ได้แก่ มะขามป้อม สมอไทย สมอพิเภก ยอและหญ้าปักกิ่ง พบว่าสมุนไพร 3 ชนิดแรกสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตและสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้
“การทดลองใช้ระบบมาตรฐานของสหรัฐ โดยเพาะเลี้ยงเซลล์ในจานหลุมและนำสารสกัดมาทดสอบทีละชนิด พบว่ามะขามป้อม สมอไทยและสมอพิเภก สามารถช่วยลดสารก่อมะเร็ง ทั้งยังฆ่าเซลล์มะเร็งได้ดีอีกด้วย” ผศ.ดร.สีหณัฐ กล่าว
ด้าน ดร.ชาตรี งามกิติเดชากุล สาขาชีวเคมี สถานวิทยาศาสตร์ฯ หนึ่งในทีมวิจัย เสริมว่า เซลล์มะเร็งที่ทีมวิจัยนำมาทดสอบด้วยการเพาะเลี้ยง ได้แก่ เซลล์มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก รังไข่ ลำไส้และเต้านม ซึ่งล้วนเป็นมะเร็งสำคัญอันดับต้นที่คร่าชีวิตคนไทยและประชากรโลกปีละหลายล้านราย
ในการวิจัยได้ใส่สารสกัดจากสมุนไพร 5 ชนิดลงไปทดสอบ และเปรียบเทียบประสิทธิภาพ จนได้ผลสรุปที่แน่ชัดว่า มะขามป้อม สมอพิเภกและสมอไทย มีฤทธิ์ยับยั้งและสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ 100% โดยมีหลักฐานการทดลองยืนยันถึง 6 ขั้นตอน จากนั้นจะนำไปทดสอบในเชิงคลินิก หรือทดสอบในคนต่อไป
สมุนไพรเหล่านี้ ถือเป็นภูมิปัญญาโบราณ มีคุณสมบัติรักษาอาการอักเสบชนิดเฉียบพลัน และระงับปวด โดยสมอไทย สมอพิเภก และมะขามป้อม มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ COX2 เพื่อขัดขวางการผลิตสารเคมีที่ทำให้เกิดอาการปวดข้อ อักเสบและบวม
งานวิจัยดังกล่าวเป็นโครงการต่อเนื่องจากงานวิจัยปี 2547 ซึ่งเป็นการตรวจสอบสารปนเปื้อนและการออกฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน รวมถึงการตรวจข้อมูลทางโภชนาการด้วย ในขั้นตอนต่อไปทีมวิจัยเตรียมพัฒนาเป็นยาแคปซูล และหากมีบริษัทเอกชนสนใจรับช่วงพัฒนาเป็นตัวยาต่อไป จะช่วยลดต้นทุนการนำเข้ายาจากต่างประเทศ และยังเป็นการเพิ่มอาชีพให้แก่เกษตรกรผู้เพาะปลูกได้ด้วย ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนางานวิจัยทางด้านสมุนไพรในปีงบประมาณ 2547-2548 แก่หน่วยงานต่างๆ ถึง 55 โครงการ และเปิดโอกาสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีโอกาสนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรม และนักวิจัยได้นำผลงานไปใช้ในงานวิจัยในสาขาที่เกี่ยวข้องต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับบวันที่ 4 ตุลาคม 2549